การใช้สื่อเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ผู้เรียน

"สวัสดีครับ เรื่องการใช้สื่อเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ผู้เรียน คุณเลือกเรียนรู้ด้วยตนเอง ดังนั้น สามารถเลื่อนเมาส์อ่านและทำความเข้าใจเนื้อหาสาระได้ตามสะดวกได้เลยครับ หรือหากต้องการให้ Luca ช่วยอธิบายในหัวข้อใดก็คลิกฟังเสียง Luca ที่ด้านล่างของแต่ละหัวข้อนั้นได้เลยครับ และเมื่อจบเนื้อหาแล้วอย่าลืมวัดค่าพลังการเรียนรู้เพื่อเก็บคะแนนด้วยนะครับ (โดยเมื่อกดปุ่ม Back กลับไปยังหน้าหลักของบทเรียนจะมีรายการให้เลือกทำแบบทดสอบหลังเรียนครับ)"

ความหมายและความสำคัญของสื่อการเรียนรู้

ความหมายของสื่อการเรียนการสอน
สื่อการเรียนการสอน หมายถึง สิ่งต่าง ๆ ที่เป็นวัสดุ อุปกรณ์ และวิธีการที่ผู้สอนนำมาใช้ประกอบในการเรียนการสอน เพื่อถ่ายทอดเนื้อหาความรู้ ความรู้สึกนึกคิดจากผู้สอนไปสู่ผู้เรียน โดยทำให้สภาพการเรียนการสอนนั้นเป็นไปอย่างน่าสนใจ น่าตื่นเต้น สนุกสนาน และทำให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพตรงตามจุดมุ่งหมายที่ได้กำหนดไว้ ส่วนสื่อการเรียนรู้ หมายถึง สิ่งที่นำมาใช้เพื่อให้ผู้เรียนได้เรียนรู้และศึกษาเพิ่มเติมด้วยตนเอง

ความสำคัญของสื่อการเรียนการสอน
1. ช่วยให้ผู้เรียนจดจำเนื้อหาสาระได้แม่นยำมากขึ้น เพราะสื่อจะช่วยกระตุ้นความสนใจและการจดจำ
2. ทำให้ผู้เรียนได้รับประสบการณ์ตรงอย่างกว้างขวางผ่านสื่อที่นำมาใช้
3. ทำสิ่งที่เข้าใจยากให้เข้าใจง่ายขึ้น สื่อจะช่วยอธิบายในสิ่งที่เป็นรูปธรรม ทำให้ผู้เรียนมองเห็นภาพและทำความเข้าใจได้ง่ายขึ้น
4. ช่วยทำให้การเรียนการสอนน่าสนใจ น่าเรียน สนุกสนานและเพลิดเพลิน ความแปลกใหม่และน่าสนใจของสื่อจะช่วยกระตุ้นการตื่นตัวในการเรียนรู้ได้ดี
5. ช่วยลดข้อจำกัดเรื่องเวลา ระยะทาง สถานที่ และขนาดได้ โดยการใช้สื่อจะสามารถจำลองสิ่งต่าง ๆ ให้เข้ามาอยู่ในห้องเรียนได้
6. ผู้เรียนได้เรียนรู้โดยผ่านประสาทสัมผัสหลายๆ ด้าน เพราะสื่อมีความหลากหลาย และตอบสนองการเรียนรู้ของผู้เรียนได้แตกต่างกัน
7. ช่วยให้ประหยัดเวลาในการสอนและอธิบายซ้ำๆ  โดยผู้เรียนสามารถใช้สื่อทบทวนความรู้ได้ด้วยตนเอง
8. ช่วยเสริมสร้างความคิดและลดการแก้ปัญหาในการเรียนรู้ของผู้เรียน  โดยสื่อจะช่วยในการฝึกฝน และฝึกหัดในการทำกิจกรรม เพื่อเสริมสร้างความคิดและการแก้ปัญหาต่าง ๆ ของผู้เรียนได้
9. ช่วยให้ผู้เรียนมีเจตคติที่ดีต่อการเรียน ชื่นชอบ ไม่รู้สึกเบื่อ และรักที่จะเรียนรู้ได้

ตัวอย่างของสื่อการเรียนการสอน
1. วัตถุสิ่งของตามธรรมชาติ ทั้งรูปภาพ ภาพเคลื่อไหว ของจริงและของจำลอง
2. ปรากฎการณ์ตามธรรมชาติ หรือเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นรอบตัว
3. วัตถุสิ่งของที่คิดประดิษฐ์ขึ้นมาเพื่อใช้สำหรับการสอนโดยเฉพาะ
4. คำพูดและลักษณะท่าทางของครู
5. วัสดุ อุปกรณ์ และเครื่องมือประเภทต่าง ๆ
6. กิจกรรมหรือกระบวนการในการถ่ายทอดความรู้ในรูปแบบต่าง ๆ

ตัวอย่างวัตถุสิ่งของที่คิดประดิษฐ์สำหรับการสอน

ตัวอย่างวัตถุสิ่งของที่คิดประดิษฐ์สำหรับการสอน

ที่มา: ผลงานนักศึกษาฝึกประสบการณ์วิชาชีพครู คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต

การจัดประเภทของสื่อการเรียนการสอน
1. ประเภทวัสดุ (Material or Software) เป็นสื่อที่อยู่ในรูปของภาพ ของจริง ของจำลอง เสียง หรือตัวอักษร แยกเป็น 2 ชนิด คือ
    1.1 ชนิดที่สามารถสื่อความหมายได้ด้วยตัวของมันเอง เช่น รูปภาพ แผนภูมิ หนังสือ ของจริง ของจำลอง เป็นต้น
    1.2 ชนิดที่ต้องอาศัยเครื่องมือช่วยในการเสนอเรื่องราวไปสู่ผู้เรียน เช่น ภาพโปร่งแสง สไลด์ แถบบันทึกเสียง ฟิล์มภาพยนตร์ และอินเทอร์เน็ตซึ่งจะต้องใช้ผ่านอุปกรณ์นำเสนอ
2. ประเภทเครื่องมือ (Hardware or Equipment) หมายถึง เครื่องมือที่เป็นตัวกลางส่งผ่านความรู้ไปสู่ผู้เรียน เช่น คอมพิวเตอร์ เครื่องฉายชนิดต่างๆ เครื่องเสียงชนิดต่าง ๆ เครื่องรับและส่งวิทยุและโทรทัศน์ ซึ่งต้องอาศัยวัสดุประกอบ เช่น แผ่นฟิล์ม แถบบันทึกเสียง แถบบันทึกภาพ
3. ประเภทเทคนิคหรือวิธีการ (Technique or Method) หมายถึง เทคนิคหรือวิธีการที่จะใช้ร่วมกับวัสดุและเครื่องมือ หรือใช้เพียงลำพังในการจัดการเรียนการสอน ได้แก่ การสาธิต การทดลอง การแสดงละคร การจัดนิทรรศการ
4. ประเภทที่เป็นแหล่งการเรียนรู้ หมายถึง แหล่งต่าง ๆ ที่นำมาใช้ประกอบกิจกรรมเพื่อช่วยพัฒนาและส่งเสริมการเรียนรู้ให้กับผู้เรียน

การแบ่งประเภทของสื่อการเรียนการสอนตามประสบการณ์เรียนรู้
ดร.เอ็ดการ์ เดล (Edgar Dale) จำแนกสื่อการเรียนการสอนโดยถือหลักประสบการณ์การเรียนรู้ที่ผู้เรียนได้รับ และเชื่อว่า “คนเราสามารถเข้าใจในสิ่งที่เป็นรูปธรรมได้ดีและเร็วกว่าสิ่งที่เป็นนามธรรม” ดังนั้น ดร.เดล จึงจำแนกสื่อการเรียนการสอนออกเป็น 10 ประเภท และเขียนไว้เป็นรูปกรวยคว่ำ เรียงตามลำดับประสบการณ์ที่ผู้เรียนได้รับ โดยประสบการณ์ที่มีความเป็นรูปธรรมมากที่สุดไว้ที่ฐานของกรวย และประสบการณ์ที่ผู้เรียนจะได้รับจะลดความเป็นรูปธรรมลง แต่จะเพิ่มความเป็นนามธรรมมากขึ้น จนถึงส่วนปลายของยอดกรวย ซึ่งจะให้ประสบการณ์ที่เป็นนามธรรมมากที่สุด ดร.เดล เรียกกรวยนี้ว่า “กรวยแห่งประสบการณ์” (Cone of Experience)
1. ประสบการณ์ตรงที่มีจุดมุ่งหมาย (Direct, Purposeful Experiences) เป็นการเสริมสร้างประสบการณ์ที่มีความเป็นรูปธรรมมากที่สุด เช่น ของจริง ทรัพยากรธรรมชาติต่าง ๆ สิ่งมีชีวิต สิ่งของ เป็นต้น
2. ประสบการณ์จำลอง (Contrived Experiences) เป็นการถ่ายทอดประสบการณ์ที่จำลองมาจากประสบการณ์จริง เช่น หุ่นจำลอง ของตัวอย่าง ลูกโลก เป็นต้น
3. ประสบการณ์นาฏการ (Dramatized Experiences) เป็นประสบการณ์ที่จัดขึ้นแทนประสบการณ์จริงที่เป็นอดีตหรือในสิ่งที่เป็นนามธรรม ยากแก่การเข้าใจก็สามารถนำมาศึกษาได้ โดยอาศัยประสบการณ์นาฏการ เช่น การแสดงละคร การแสดงบทบาทสมมติ
4. การสาธิต (Demonstrations) เป็นการอธิบายข้อเท็จจริง ความคิด และกระบวนการที่สำคัญ ด้วยการแสดงเป็นตัวอย่างประกอบการอธิบายให้เห็นเป็นลำดับขั้นตอน
5. การศึกษานอกสถานที่ (Field Trips) เป็นการพาผู้เรียนไปศึกษานอกสถานที่ เพื่อให้ผู้เรียนได้มีโอกาสไปแสวงหาความรู้จากแหล่งต่าง ๆ นอกห้องเรียน
6. นิทรรศการ (Exhibitions) เป็นการจัดแสดงสิ่งต่างๆ เพื่อให้ความรู้แก่ผู้ดูอย่างมีจุดมุ่งหมายในการจัดแสดง อาจมีการสาธิต หรือการใช้สื่อการสอนอื่น ๆ ประกอบ ผู้เรียนจะได้รับประสบการณ์จากการดู การฟังและการพูดคุยสอบถามเป็นส่วนใหญ่
7. โทรทัศน์และภาพยนตร์ (Television and Motion Pictures) ผู้เรียนจะได้ศึกษาจากรายการโทรทัศน์และภาพยนตร์ ซึ่งได้รับประสบการณ์จากการมองเห็นการเคลื่อนไหวที่เหมือนจริงและการได้ยินเสียงไปพร้อม ๆ กัน 
8. ภาพนิ่ง การบันทึกเสียง และวิทยุ (Still Picture, Recording, Radio) สื่อนี้จะให้ประสบการณ์การเรียนรู้ทางเดียวจากการดูภาพนิ่งต่าง ๆ รวมถึงการศึกษาเรื่องราวต่าง ๆ จากเทปบันทึกเสียง แผ่นเสียง หรือรายการวิทยุที่สามารถให้ข่าวและความรู้แก่ผู้ฟังได้โดยไม่ต้องอ่านเอง
9. ทัศนสัญลักษณ์ (Visual Symbols) เป็นสื่อการเรียนการสอนที่ผู้เรียนจะศึกษาและได้ประสบการณ์จากการมอง เช่น แผนภูมิ แผนสถิติ เครื่องหมายและสัญลักษณ์ต่าง ๆ สื่อประเภทนี้จะช่วยให้เกิดความเข้าใจได้ง่ายและรวดเร็ว
10. วัจนสัญลักษณ์ (Verbal Symbols) เป็นสื่อที่มีความเป็นนามธรรมมากที่สุด ได้แก่ ตัวอักษร คำพูด ผู้ที่จะเข้าใจสัญลักษณ์นี้จะต้องอาศัยประสบการณ์เดิมมาเป็นรากฐานในการศึกษาเรื่องราวต่างๆ จากตัวอักษรหรือข้อความต่าง ๆ

ตัวอย่างแสดงภาพกรวยแห่งประสบการณ์ (Cone of Experience)

http://theaedtech.blogspot.com/2016/09/thislesson-will-introduce-edgar-dales.html

แนวทางการใช้สื่อการเรียนการสอน

สำหรับครูผู้สอน
1. ต้องรู้และเข้าใจว่าควรใช้สื่อประเภทใดจึงจะช่วยทำให้ผู้เรียนมีความรู้และเข้าใจเนื้อหานั้น ๆ
2. ควรจะต้องมีทักษะในการผลิตสื่อพื้นฐานการสอนอย่างง่าย ๆ แบบต่าง ๆ ได้บ้าง เช่น แผ่นภาพ บัตรคำ แผนภูมิ กระเป๋าภาพหรือสมุดภาพ เป็นต้น
3. ควรจะต้องมีทักษะในการใช้สื่อการสอนต่างๆ ให้มากที่สุดเพื่อสะดวกในการใช้ประกอบการสอนได้อย่างเหมาะสม โดยเฉพาะสื่อเทคโนโลยีดิจิทัลที่เป็นสื่อยุคใหม่ที่จะต้องมีความรู้และทักษะในการใช้งานเพิ่มเติมจากการใช้สื่อพื้นฐานทั่วไป
4. ควรมีความรู้ ความเข้าใจในการเลือกสื่อการสอนเพื่อนำมาใช้ประกอบการเรียนการสอนได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ
5. การใช้สื่อการสอนบางครั้งจำเป็นจะต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างผู้ใช้สื่อการสอนกับบุคคลอื่นๆ เช่น ผู้ให้ความรู้เกี่ยวกับสื่อการสอน เป็นต้น
6. ก่อนการใช้สื่อการสอน ผู้สอนควรเตรียมสิ่งต่อไปนี้ล่วงหน้า
        - วางแผนก่อนใช้สื่อว่าจะใช้สอนอะไร ตอนไหน อย่างใด ใครเป็นผู้ใช้และถ้ามีการใช้สื่อหลายชิ้น หลายประเภท ต้องจัดเรียงลำดับตามลักษณะการใช้งาน
        - เตรียมจัดหาและเลือกสื่อการสอนล่วงหน้าเสมอ
        - ทดลองใช้สื่อการสอนเพื่อหาข้อบกพร่องที่ต้องปรับปรุงแก้ไข
        - จัดเตรียมสถานที่ รวมทั้งอุปกรณ์ประกอบการใช้สื่อเช่น ปลั๊กไฟ สายไฟ
7. ขณะใช้สื่อการสอนในชั้นเรียน ผู้สอนควรคำนึงถึงสิ่งต่อไปนี้
        - ความพร้อมของผู้เรียน
      - กรณีที่ผู้สอนเป็นผู้ใช้สื่อ ผู้สอนไม่ควรแสดงให้ผู้เรียนเห็นก่อนเวลาที่เหมาะสม เพราะอาจจะทำให้ผู้เรียนสนใจในสื่อมากเกินไป หรือกรณีที่ผู้เรียนเป็นผู้ใช้ ผู้สอนต้องทำความเข้าใจกับผู้เรียนให้ชัดเจน
      -ใช้สื่อตามที่ได้วางแผนไว้ล่วงหน้าตามเวลาที่กำหนด และให้เป็นระบบระเบียบ
8. ผู้สอนต้องรู้จักใช้และระวังรักษาสื่อการสอน ซึ่งสามารถปฏิบัติได้ดังนี้
        - พยายามใช้สื่อการสอนให้คงสภาพอยู่ได้นาน คุ้มค่ากับการนำมาใช้งาน
        - แยกชนิดของสื่อการสอนตามลักษณะและขนาด โดยเก็บให้เป็นหมวดหมู่
        - ทำบัญชีวัสดุทุกชิ้น โดยจดเป็นรายการ มีการยืมคืนอย่างเป็นระบบ
        - สำรวจสื่ออย่างน้อยเทอมละครั้ง เพื่อปรับปรุงซ่อมแซมอุปกรณ์ที่มีอยู่ให้อยู่ในสภาพใช้การได้เสมอ
9. ทุกครั้งที่มีการใช้เสร็จเรียบร้อยแล้ว ต้องมีการประเมินผลเพื่อให้ทราบถึงประสิทธิภาพของสื่อการสอนนั้น

สำหรับผู้เรียน
1. ให้ผู้เรียนทบทวนบทเรียนที่เรียนมาแล้วเพื่อเป็นพื้นฐานในการเรียนรู้ในบทเรียนใหม่ ๆ
2. ให้ผู้เรียนเตรียมตัวในเนื้อเรื่องที่จะเรียน โดยกำหนดงานให้ผู้เรียนค้นคว้าเพิ่มเติมจากสื่อนั้นๆ
3. ควรให้ผู้เรียนทราบว่าการใช้สื่อนั้น ผู้เรียนจะต้องทำอะไรบ้าง
4. หากให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการใช้สื่อ ผู้สอนต้องนัดหมายหรือซักซ้อมกับผู้เรียนไว้ล่วงหน้า 

สำหรับสื่อและเครื่องอำนวยความสะดวก
1. ทดสอบความพร้อมของเครื่องหรืออุปกรณ์ต่าง ๆ เช่น เครื่องเสียง
2. ทดสอบความพร้อมของอุปกรณ์อำนวยความสะดวกที่จะต้องประกอบกับเครื่อง เช่น สายไฟ รีโมท เป็นต้น
3. จัดโต๊ะ เก้าอี้ ที่จำเป็นต่อการใช้สอนเมื่อมีการใช้สื่อการเรียนการสอน

ขั้นตอนการใช้สื่อการเรียนการสอน

1. การเลือกใช้สื่อให้เหมาะกับเนื้อหา เหมาะกับผู้เรียน (พื้นฐานความรู้ วัย และความสามารถ) พิจารณาความปลอดภัย ความคุ้มค่ากับผลที่ได้ พิจารณาความสะดวก นอกจากนี้ผู้สอนควรคำนึงถึงองค์ประกอบในการเลือกสื่อ ได้แก่ จุดมุ่งหมายของการสอนและเนื้อหาวิชา รูปแบบและระบบของการเรียนการสอน ลักษณะของผู้เรียน และคุณสมบัติและข้อจำกัดของสื่อ
2. การเตรียมพร้อมก่อนการใช้สื่อ ได้แก่ การเตรียมจัดหาสื่อ วัสดุ กิจกรรม หรือวิธีการต่าง ๆ ที่นำมาประกอบการสอนให้เหมาะสม ศึกษาเนื้อหาสาระที่ปรากฏในสื่อ รวมถึงศึกษาวิธีการใช้และทดลองใช้สื่อนั้นก่อน จนกระทั่งสามารถใช้ได้อย่างคล่องแคล่ว เพื่อจะทำให้การสอนดำเนินไปด้วยดีตามลำดับก่อนหลัง
3. การใช้สื่อเพื่อจัดกิจกรรม ใช้ได้อย่างคล่องแคล่ว แสดงให้ผู้เรียนเห็นได้ชัดเจนทั่วทั้งห้อง ควรหาที่ตั้งวางหรือแขวนอุปกรณ์ที่มีขนาดใหญ่ ควรใช้อุปกรณ์ชี้แทนการใช้นิ้วชี้ที่สื่อโดยตรง ควรเรียงลำดับตามการใช้ ไม่ควรจัดวางไว้ในลักษณะที่จะหันเหความสนใจของผู้เรียนเมื่อยังไม่ถึงเวลาใช้สื่อ ใช้เครื่องมือประกอบการใช้อุปกรณ์ให้เหมาะสม เช่น การติดเทปกาวไว้ก่อนล่วงหน้า เตรียมผู้เรียนในการใช้อุปกรณ์ ใช้อุปกรณ์ให้คุ้มค่า เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้มีส่วนร่วม ฝึกให้ผู้เรียนเกิดระเบียบในการใช้อุปกรณ์ และคำนึงถึงความปลอดภัยในการใช้งาน
4. การประเมินผลการใช้ โดยเมื่อมีการใช้สื่อประกอบการสอนแล้ว ผู้สอนควรติดตามผลการใช้สื่อประกอบการสอนทุกครั้ง เพื่อให้ทราบผลว่าผู้เรียนได้รับความรู้จากการใช้สื่อการเรียนการสอนนั้นมากน้อยเพียงใดมีข้อบกพร่องในการใช้อะไรบ้าง วิธีการติดตามผลและประเมินผลการใช้สื่อ เช่น สังเกตการใช้ สัมภาษณ์หรือสอบถามความพึงพอใจต่อการใช้  หรือพูดคุยซักถามเกี่ยวกับความเหมาะสมของการนำสื่อนั้นมาใช้ เป็นต้น

ลักษณะของสื่อการเรียนการสอนที่ดี
1. สอดคล้องกับจุดประสงค์และเนื้อหาของบทเรียน 
2. เหมาะสมกับระดับชั้นและวัยของผู้เรียน
3. สามารถกระตุ้นหรือเร้าความสนใจผู้เรียนให้ติดตามกระบวนการเรียนการสอนได้ตลอดขณะดำเนินการสอน ซึ่งจะช่วยทำให้การสอนนั้นราบรื่น
4. มีราคาเหมาะสมหรือไม่แพงจนเกินไปและสามารถหาหรือซื้อได้ในท้องถิ่น
5. มีคุณค่าและสามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ และมีความเหมาะสมกับราคาของสื่อการเรียนการสอนนั้น ๆ 

การใช้นวัตกรรมเพื่อการเรียนรู้
นวัตกรรม หมายถึง แนวคิด ทฤษฎี หรือสื่อต่าง ๆ ที่ส่งเสริม สนับสนุนการเรียนการสอน นวัตกรรมการเรียนรู้ อาจะเป็นทั้งการกระทำ แนวคิดใหม่ เทคนิควิธี หรือสิ่งประดิษฐ์ใหม่ ๆ ที่นำมาใช้แก้ปัญหาการเรียนการสอน หรือส่งเสริมสนับสนุนให้ผู้เรียนเกิดการเปลี่ยนแปลงแนวคิด ทัศนคติ ตลอดจนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไปในทางที่พึงปรารถนา

ลักษณะของนวัตกรรมในการเรียนรู้
1. เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นใหม่ อาจจะใหม่ทั้งหมดหรือใหม่บางส่วน หรือเป็นสิ่งใหม่ที่ยังไม่เคยนำมาใช้ที่หนึ่ง แต่อาจนำมาใช้อีกที่หนึ่งแล้ว ก็นับเป็นนวัตกรรมสำหรับที่ ๆ ยังไม่เคยใช้ได้ หรือเป็นสิ่งใหม่ในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งก็ถือเป็นนวัตกรรมได้เช่นกัน
2. เป็นสิ่งใหม่ที่กำลังอยู่ในกระบวนการดำเนินการพิสูจน์ในระบบของการทดลองหรือทดสอบในการใช้งาน
3. เป็นสิ่งใหม่ที่ได้รับการยอมรับและนำไปใช้ แต่ยังไม่เป็นส่วนหนึ่งของการนำมาใช้ในภาวะปกติของที่ใดที่หนึ่ง แต่หากมีการนำมาใช้ในระบบปกติของที่นั้น ๆ เป็นประจำวันก็ไม่นับเป็นนวัตกรรมอีกต่อไป
4. เป็นสิ่งใหม่ที่ได้รับการยอมรับและได้มีการนำไปใช้กันบ้างแล้ว แต่ยังไม่แพร่หลาย

ตัวอย่างนวัตกรรมในการเรียนรู้ที่น่าสนใจ
1. นวัตกรรมประเภทที่เป็นรูปธรรม มีลักษณะเป็นวัสดุ อุปกรณ์ ผลิตภัณฑ์ หรือสิ่งประดิษฐ์ต่าง ๆ ที่มีลักษณะสัมผัสจับต้องได้ เช่น ชุดการสอน ตัวการ์ตูน หนังสือนิทาน เอกสารประกอบการสอน เป็นต้น
2. นวัตกรรมประเภทที่เป็นนามธรรม มีลักษณะเป็นแนวคิด ทฤษฎี หรือโปรแกรม นวัตกรรมประเภทนี้มักจะออกมาในรูปของวิธีสอน หรือเทคนิคการสอนในรูปแบบต่าง ๆ ตัวอย่างเช่น บทเรียนสำเร็จรูป โปรแกรมการเรียนรู้ รูปแบบการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง รูปแบบการสอนทักษะการคิด ห้องเรียนกลับด้าน วิธีสอนตามแนววิถีพุทธ หรือตามแนวทางใหม่ๆ 

References:

ทิศนา แขมมณี. (2561). ศาสตร์การสอน องค์ความรู้เพื่อการจัดกระบวนการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ (พิมพ์ครั้งที่ 22). กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
เบญจวรรณ กี่สุขพันธ์ พันพัชร ปิ่นจินดา และอลงกรณ์ เกิดเนตร. (2561). การจัดการเรียนรู้และการจัดการชั้นเรียน. ศูนย์บริการสื่อและสิ่งพิมพ์กราฟฟิคไซท์.
สุพิน บุญชูวงค์. (2548). หลักการสอน. กรุงเทพฯ: คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต.
อาภรณ์ ใจเที่ยง. (2553). หลักการสอน ฉบับปรับปรุง (พิมพ์ครั้งที่ 5). โอ.เอส. พริ้นติ้ง เฮาส์.