การใช้สิ่งแวดล้อมเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้
"สวัสดีครับ เรื่องการใช้สิ่งแวดล้อมเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ คุณเลือกเรียนรู้ด้วยตนเอง ดังนั้น สามารถเลื่อนเมาส์อ่านและทำความเข้าใจเนื้อหาสาระได้ตามสะดวกได้เลยครับ หรือหากต้องการให้ Luca ช่วยอธิบายในหัวข้อใดก็คลิกฟังเสียง Luca ที่ด้านล่างของแต่ละหัวข้อนั้นได้เลยครับ และเมื่อจบเนื้อหาแล้วอย่าลืมวัดค่าพลังการเรียนรู้เพื่อเก็บคะแนนด้วยนะครับ (โดยเมื่อกดปุ่ม Back กลับไปยังหน้าหลักของบทเรียนจะมีรายการให้เลือกทำแบบทดสอบหลังเรียนครับ)"
ความหมายของสิ่งแวดล้อม
สิ่งแวดล้อม หมายถึง สิ่งต่าง ๆ ที่มีลักษณะทางกายภาพและชีวภาพที่อยู่รอบตัวมนุษย์ซึ่งเกิดขึ้นโดยธรรมชาติและสิ่งที่มนุษย์ได้สร้างขึ้น
1. สิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ ได้แก่ สิ่งแวดล้อมทางชีวภาพหรือชีวภูมิศาสตร์ ได้แก่ พืชพันธุ์ธรรมชาติต่าง ๆ สัตว์ป่า ป่าไม้ สิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ที่อยู่รอบตัวเรา และสิ่งแวดล้อมทางกายภาพหรือสิ่งแวดล้อมที่ไม่มีชีวิต มีความสำคัญต่อสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในสิ่งแวดล้อมนั้น เช่น น้ำใช้เพื่อการบริโภค และเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำ อากาศใช้เพื่อการหายใจของมนุษย์และสัตว์ ดินเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตบนบก แสงแดดให้ความร้อนและช่วยในการสังเคราะห์แสงของพืช เป็นต้น
2. สิ่งแวดล้อมที่มนุษย์สร้างขึ้น (สิ่งแวดล้อมทางกายภาพ เช่น สิ่งปลูกสร้าง อาคาร สถานที่และสถาปัตยกรรมต่าง ๆ และสิ่งแวดล้อมทางสังคม เช่น วิถีชีวิต ความเชื่อ ค่านิยม ขนบธรรมเนียมประเพณี ศิลปะ วัฒนธรรม และกฎเกณฑ์ทางสังคม)
การจัดสิ่งแวดล้อมในโรงเรียน
การจัดสิ่งแวดล้อมในโรงเรียน หมายถึง การจัดสภาพแวดล้อมของโรงเรียน แบ่งได้เป็น 3 ประเภท คือ สภาพแวดล้อมทางกายภาพ สภาพแวดล้อมทางวิชาการ และสภาพแวดล้อมทางการบริหารจัดการ โดยมีรายละเอียดดังนี้
1. สภาพแวดล้อมทางกายภาพ สิ่งแวดล้อมที่เป็นรูปธรรมมองเห็น สัมผัสได้ สร้างขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกหรือตอบสนองความต้องการ
2. สภาพแวดล้อมทางวิชาการ สิ่งแวดล้อมที่ส่งผลต่อการจัดบรรยากาศการเรียนรู้ในห้องเรียนและนอกห้องเรียนเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้
3. สภาพแวดล้อมทางการบริหารจัดการ สิ่งแวดล้อมที่เป็นลักษณะการดำเนินกิจกรรมของโรงเรียน การปฏิบัติงานด้วยความร่วมมือร่วมใจของบุคลากรจนบรรลุตามเป้าหมายที่กำหนด
การจัดอาคารสถานที่และสิ่งแวดล้อมในสถานศึกษา ประกอบด้วย
1. การบริหารงานอาคารสถานที่ หมายถึง การกำหนดแนวทางและการวางแผนการบริหารจัดการ อาคารสถานที่ การจัดทำแผนผังบริเวณสถานศึกษา การดูแลและพัฒนาอาคารสถานที่และสภาพแวดล้อม การติดตามตรวจสอบการใช้อาคารสถานที่และสภาพแวดล้อม
2. การจัดสภาพแวดล้อมและบรรยากาศภายในสถานศึกษา หมายถึง การจัดสิ่งแวดล้อมและบรรยากาศบริเวณสถานศึกษาและภายในอาคารเรียนและอาคารต่าง ๆ ให้เกิดความสะอาด ร่มรื่น สวยงามและปลอดภัย การจัดสิ่งแวดล้อมและบรรยากาศในสถานศึกษานั้น ควรจัดบริเวณต่าง ๆ ให้เป็นสัดส่วนและตกแต่งบริเวณโดยรอบให้สวยงาม ร่มรื่น และน่าอยู่
การใช้แหล่งการเรียนรู้เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ของผู้เรียน
สถานศึกษาแต่ละแห่งถึงแม้จะมีสภาพพื้นที่แตกต่างกันไป แต่ในบริเวณพื้นที่ของทุกสถานศึกษาสามารถนำมาใช้เป็นแหล่งข้อมูล ข่าวสาร เพื่อส่งเสริมสนับสนุนให้ผู้เรียนได้แสวงหาความรู้และเรียนรู้ได้ด้วยตนเองตามอัธยาศัย รวมทั้งครูผู้สอนก็สามารถใช้เป็นแหล่งเรียนรู้จากนอกห้องเรียนเพื่อฝึกฝนผู้เรียนให้เกิดกระบวนการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องได้ในทุกสาระการเรียนรู้ โดยแหล่งการเรียนรู้ หมายถึง แหล่งที่มีข้อมูล ข่าวสาร ความรู้ ประสบการณ์ สารสนเทศและเทคโนโลยีสำหรับใช้ในการแสวงหาความรู้ ซึ่งมีอยู่ตามธรรมชาติและมนุษย์สร้างขึ้น รวมทั้งความรู้ ความเชี่ยวชาญ ความคิดเห็น และความรู้สึกของบุคคลซึ่งมีการถ่ายทอดหรือบันทึกไว้ตามสื่อต่างๆ แหล่งการเรียนรู้ ประกอบด้วย สถานที่ ปรากฏการณ์ เหตุการณ์หรือสถานการณ์ต่างๆ ที่สามารถแสวงหาความรู้ได้ทุกเวลา ทุกโอกาส และทุกสถานที่ การศึกษาจากแหล่งการเรียนรู้จะช่วยให้ผู้เรียนมีนิสัยรักการค้นคว้า ใฝ่รู้ ใฝ่เรียน และเรียนรู้ด้วยตนเองได้ตลอดชีวิต (Lifelong learning)
ประเภทของแหล่งเรียนรู้
การจัดประเภทของแหล่งเรียนรู้ สามารถจัดได้หลายแบบตามความสอดคล้องกับโรงเรียนหรือสถานศึกษาแต่ละแห่ง เพื่อเอื้อประโยชน์ต่อการใช้งาน
การจัดประเภทตามลักษณะของแหล่งเรียนรู้ แบ่งได้เป็น 3 ประเภท ดังนี้
1. แหล่งเรียนรู้ตามธรรมชาติ เป็นแหล่งเรียนรู้ที่มีอยู่แล้วตามธรรมชาติ เช่น ภูเขา แม่น้ำ ป่าไม้ ลำธาร ทะเล ท้องฟ้า มหาสมุทร หิน ดิน ทราย ฯลฯ
2. แหล่งเรียนรู้ที่มนุษย์สร้างขึ้น เป็นแหล่งเรียนรู้ที่มนุษย์สร้างขึ้นเพื่อสืบทอดศิลปวัฒนธรรม ตลอดจนเทคโนโลยีและสิ่งอำนวยความสะดวกของมนุษย์ แบ่งได้เป็น
- แหล่งเรียนรู้ทางภูมิสถาปัตย์ เช่น สิ่งปลูกสร้าง อาคาร สถานที่ เขื่อน อุทยาน อนุสาวรีย์ โบราณสถาน โบราณวัตถุ ตลาด บ้านเรือน ที่อยู่อาศัย
- แหล่งเรียนรู้ทางสังคม เป็นแหล่งการเรียนรู้เกี่ยวกับความเชื่อและเจตคติที่มนุษย์ได้สั่งสมและพัฒนาเป็นวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม ประเพณี และอาจเป็นเหตุการณ์หรือกิจกรรมต่างๆ เช่น ประเพณีสงกรานต์ งานหรือเหตุการณ์ต่างๆ เช่น งานสัปดาห์ห้องสมุด สัปดาห์วิทยาศาสตร์ การจัดนิทรรศการ ฯลฯ
- แหล่งเรียนรู้ทางการศึกษาค้นคว้า เช่น ห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ ห้องปฏิบัติการ ห้องพุทธศาสตร์ ห้องเกียรติยศ สวนพฤกษศาสตร์ ฯลฯ
3. แหล่งเรียนรู้ที่เป็นบุคคล เป็นแหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับบุคคลต่างๆ ที่สามารถถ่ายทอดความรู้ได้ ซึ่งจะถ่ายทอดความรู้ ความสามารถ คุณธรรม จริยธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น ทั้งในด้านการประกอบอาชีพและการสืบสานศิลปวัฒนธรรม ตลอดจนนักคิด นักประดิษฐ์ และผู้ที่มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ในด้านต่างๆ เช่น พระภิกษุสงฆ์ ครู ปราชญ์ชาวบ้าน นักวิชาการ นักธุรกิจ ผู้ประสบความสำเร็จในการประกอบอาชีพต่าง ๆ ฯลฯ
การจัดประเภทตามที่ตั้งของแหล่งเรียนรู้ แบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ
1. แหล่งเรียนรู้ในโรงเรียน โดยดั้งเดิมแล้วแหล่งเรียนรู้ในโรงเรียนจะมีแหล่งเรียนรู้หลัก คือ ครู อาจารย์ ห้องเรียน ห้องสมุด ต่อมามีการพัฒนาเป็นห้องปฏิบัติการต่างๆ เช่น ห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ ห้องปฏิบัติการทางภาษา ห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ ห้องโสตทัศนศึกษา ห้องศูนย์คณิตศาสตร์ ตลอดจนการใช้อาคารสถานที่ บริเวณและสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ภายในโรงเรียน
2. แหล่งเรียนรู้ในชุมชน ครอบคลุมทั้งด้านสถานที่และบุคคล ซึ่งอาจอยู่ในชุมชนใกล้เคียงที่สามารถพานักเรียนไปศึกษาหาความรู้ เช่น วัด หมู่บ้าน ภูเขา แม่น้ำ สถานประกอบการต่างๆ การละเล่นพื้นบ้าน ภูมิปัญญาชาวบ้าน เทคโนโลยีในชีวิตประจำวัน และแหล่งข้อมูลข่าวสารต่างๆ ฯลฯ
การจัดการเรียนรู้จากแหล่งการเรียนรู้
1. ใช้แหล่งวิทยาการต่างๆ ในชุมชนเพื่อให้ผู้เรียนได้เรียนรู้จากประสบการณ์ตรง
2. ใช้แหล่งการเรียนรู้จากสื่อสารมวลชน เพื่อให้ผู้เรียนฝึกวิเคราะห์ สนใจและติดตามสถานการณ์ความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นในสังคม
3. ใช้แหล่งการเรียนรู้จากเทคโนโลยีสารสนเทศหรืออินเทอร์เน็ตและ Social media เพื่อให้สืบค้นและเรียนรู้ด้วยตนเองผ่านเทคโนโลยีที่ทันสมัย
4. จัดการศึกษานอกสถานที่ เพื่อเปิดโลกทัศน์และให้ผู้เรียนได้เรียนรู้จากโลกกว้าง
บทบาทผู้สอนในการจัดการเรียนรู้จากแหล่งเรียนรู้
1. ศึกษา รวบรวมข้อมูลจากแหล่งเรียนรู้เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนการนำมาใช้
2. ให้คำปรึกษา และแนะนำผู้เรียนในการศึกษาหาความรู้จากแหล่งเรียนรู้
3. จัดหา ประสานงานการใช้แหล่งเรียนรู้ จัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์ เอกสารเพิ่มเติม และสร้างแรงจูงใจในการศึกษาค้นคว้าด้วยตนเองให้กับผู้เรียน
4. ประเมินผลการเรียนรู้ผ่านกิจกรรมที่ได้เรียนรู้จากการใช้แหล่งเรียนรู้ต่าง ๆ
5. ติดตามช่วยเหลือการดำเนินการ และให้คำแนะนำเพื่อความถูกต้องในการใช้แหล่งเรียนรู้นั้นๆ
6. ประยุกต์ใช้แหล่งเรียนรู้ให้สอดคล้องกับเนื้อหาสาระและการจัดกิจกรรมการเรียนรู้เพื่อพัฒนากระบวนการเรียนรู้ของผู้เรียน
ตัวอย่างการใช้ประโยชน์จากแหล่งการเรียนรู้ในสถานศึกษา
ตัวอย่าง การบูรณาการเพื่อใช้ประโยชน์จากพันธุ์ไม้ภายในโรงเรียนเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ของแต่ละกลุ่มสาระการเรียนรู้
1. กลุ่มสาระการเรียนรู้วิชาภาษาไทย ให้ผู้เรียนเขียนชื่อพันธุ์ไม้ แต่งคำประพันธ์หรือหาคำประพันธ์ที่ปรากฏชื่อพันธุ์ไม้นั้นๆ มาฝึกอ่าน แต่งทำนองเสนาะ ฝึกเขียนตามคำบอก เขียนเรียงความ คัดลายมือ หรือฝึกพูดบรรยายเกี่ยวกับลักษณะของพันธุ์ไม้
2. กลุ่มสาระการเรียนรู้วิชาคณิตศาสตร์ ให้ผู้เรียนฝึกนับจำนวนจากผลหรือกิ่งก้าน ฝึกการวัดและการคาดคะเนขนาดและความสูงของต้นไม้ คำนวนหาตำแหน่ง ระยะทาง ทิศทาง ขนาด พื้นที่ รูปร่างของพันธุ์ไม้ เขียนแผนผัง แผนที่แสดงที่ตั้งของพันธุ์ไม้
3. กลุ่มสาระการเรียนรู้วิชาวิทยาศาสตร์ ให้ผู้เรียน เรียนรู้เกี่ยวกับลักษณะและส่วนต่าง ๆ ของต้นไม้ เช่น ราก ลำต้น ดอก ผล ใบ การสังเคราะห์แสง หรือการขยายพันธ์ุต้นไม้แต่ละชนิด
4. กลุ่มสาระการเรียนรู้วิชาสังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ให้ผู้เรียนศึกษาค้นคว้า เกี่ยวกับค่านิยม ความเชื่อ ประเพณีและพิธีกรรมเกี่ยวกับพันธุ์ไม้ ศึกษาภูมิปัญญาที่เกิดจากพันธุ์ไม้ ฝึกเขียนรายงานจากการสำรวจ และศึกษากฎหมายทีเกี่ยวข้องกับพันธุ์ไม้ชนิดต่าง ๆ
5. กลุ่มสาระการเรียนรู้วิชาสุขศึกษาและพลศึกษา ศึกษาสรรพคุณทางยาของพันธุ์ไม้ การผลิตยาชงสมุนไพรจากผลิตผลของพันธุ์ไม้ รายชื่ออุปกรณ์กีฬาที่ทำจากพันธุ์ไม้
6. กลุ่มสาระการเรียนรู้วิชาศิลปะ ฝึกวาดภาพระบายสีพันธุ์ไม้ เรียนรู้ชนิดและลักษณะของเครื่องดนตรีที่ทำจากพันธุ์ไม้ต่าง ๆ
7. กลุ่มสาระการเรียนรู้วิชาการงานอาชีพและเทคโนโลยี ฝึกออกแบบและสร้างสิ่งของ เครื่องมือ เครื่องใช้ที่ทำจากพันธุ์ไม้นั้น ๆ หรือเรียนรู้เกี่ยวกับอาชีพที่ต้องพึ่งพาอาศัยพันธุ์ไม้ การนำผลผลิตของพันธุ์ไม้มาทำเป็นอาหาร รวมทั้งการถนอมอาหารที่ได้จากพันธุ์ไม้แต่ละชนิด
8. กลุ่มสาระการเรียนรู้วิชาภาษาต่างประเทศ ให้ผู้เรียนเรียนรู้คำศัพท์และประโยคเกี่ยวกับส่วนประกอบต่าง ๆ ของต้นไม้
9. กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน กำหนดต้นไม้ที่มีภายในบริเวณโรงเรียนให้เป็นต้นไม้ประจำโรงเรียน หรือจัดตั้งชมรมอนุรักษ์พันธุ์ไม้เพื่อสร้างจิตสำนึกในการสงวนรักษา และอนุรักษ์พันธุ์ไม้หายากในท้องถิ่น
References:
กระทรวงศึกษาธิการ. (2545). คู่มือพัฒนาแหล่งเรียนรู้. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์องค์การรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์ (ร.ส.พ).
ครูบ้านนอก. (2552). การใช้ประโยชน์จากแหล่งการเรียนรู้ในสถานศึกษา. สืบค้นเมื่อ 11 พ.ย. 2564 เข้าถึงได้จาก https://www.kroobannok.com/22785
ทิศนา แขมมณี. (2561). ศาสตร์การสอน องค์ความรู้เพื่อการจัดกระบวนการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ (พิมพ์ครั้งที่ 22). กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
เบญจวรรณ กี่สุขพันธ์ พันพัชร ปิ่นจินดา และอลงกรณ์ เกิดเนตร. (2561). การจัดการเรียนรู้และการจัดการชั้นเรียน. ศูนย์บริการสื่อและสิ่งพิมพ์กราฟฟิคไซท์.
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน. (2547). การใช้แหล่งเรียนรู้ในโรงเรียนและชุมชุน. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว.
สุพิน บุญชูวงค์. (2548). หลักการสอน. กรุงเทพฯ: คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต.
สุมน อมรวิวัฒน์. (2545). กระบวนการเรียนรู้ในชุมชนและธรรมชาติ. กรุงเทพฯ : วัฒนาพานิช.
อาภรณ์ ใจเที่ยง. (2553). หลักการสอน ฉบับปรับปรุง (พิมพ์ครั้งที่ 5). โอ.เอส. พริ้นติ้ง เฮาส์.