การเรียนรู้และรูปแบบการจัดการเรียนรู้
"สวัสดีครับ เรื่องการเรียนรู้และรูปแบบการจัดการเรียนรู้ คุณเลือกเรียนรู้ด้วยตนเอง ดังนั้น สามารถเลื่อนเมาส์อ่านและทำความเข้าใจเนื้อหาสาระได้ตามสะดวกได้เลยครับ หรือหากต้องการให้ Luca ช่วยอธิบายในหัวข้อใดก็คลิกฟังเสียง Luca ที่ด้านล่างของแต่ละหัวข้อนั้นได้เลยครับ และเมื่อจบเนื้อหาแล้วอย่าลืมวัดค่าพลังการเรียนรู้เพื่อเก็บคะแนนด้วยนะครับ (โดยเมื่อกดปุ่ม Back กลับไปยังหน้าหลักของบทเรียนจะมีรายการให้เลือกทำแบบทดสอบหลังเรียนครับ)"
1. การเรียนรู้และธรรมชาติการเรียนรู้ของผู้เรียน
การเรียนรู้เป็นกลไกสำคัญตามธรรมชาติของสิ่งมีชีวิตและมีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ในทุกยุคทุกสมัย มนุษย์อาศัยกระบวนการเรียนรู้ที่ถูกต้องและมีประสิทธิภาพเพื่อตอบสนองความต้องการและปรับตัวเองให้เข้ากับสภาวะต่าง ๆ ที่มีทั้งการเกิดขึ้น ดำรงอยู่และมีการเปลี่ยนแปลง และความต้องการเรียนรู้เพื่อจัดการสิ่งต่าง ๆ ให้มีการเปลี่ยนแปลงไปสู่สภาพที่ตนต้องการ จึงมีการเรียนรู้สิ่งใหม่อยู่เสมอในหลากหลายรูปแบบ เพื่อเพิ่มพูนความฉลาดเฉลียวและประสบการณ์ มีความสามารถในการคิดแก้ปัญหาที่จะต้องเผชิญในชีวิตประจำวัน และเพื่อให้สามารถดำรงชีวิตอยู่อย่างมีความสุข การดำเนินชีวิตของมนุษย์ทุกช่วงวัยจึงต้องมีการเรียนรู้ตลอดเวลาหรือที่เรียกกันว่าเป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning)
ความหมายของการเรียนรู้
นักวิชาการ นักการศึกษาและนักจิตวิทยาทางการศึกษาให้ความหมายการเรียนรู้เป็นไปในทิศทางเดียวกันและสอดคล้องกันว่า การเรียนรู้เป็นกระบวนการที่เกิดจากสมองและมีปฏิสัมพันธ์ร่วมกันกับประสาทสัมผัสและส่วนต่าง ๆ ทางกายภาพของมนุษย์ การเรียนรู้ของมนุษย์นั้นเกิดจากปัจจัยทั้งภายในร่างกายและภายนอกร่างกาย เช่น การฝึกฝน ฝึกหัด การอบรมสั่งสอนหรือการสร้างเสริมประสบการณ์ต่าง ๆ ซึ่งจะนำไปสู่การประมวลผลของสมองและส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมอย่างค่อนข้างคงทนและถาวร ตัวอย่างเช่น การฝึกหัดขี่รถจักรยาน เล่นกีฬา ดนตรีหรือขับรถที่เมื่อเกิดการเรียนรู้แล้วการเรียนรู้นั้นก็จะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมไปในทิศทางที่ถาวรหรือค่อนข้างถาวรหรือติดตัวไปตลอด
ธรรมชาติของการเรียนรู้
ธรรมชาติการเรียนรู้ เป็นกระบวนการที่สำคัญของพฤติกรรมมนุษย์ การเรียนรู้ไม่มีที่สิ้นสุด แต่มนุษย์มีธรรมชาติในการเรียนรู้ที่แตกต่างกัน ส่วนใหญ่เรียนรู้จากการมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมและได้รับอิทธิพลอย่างต่อเนื่อง ซึ่งประสบการณ์นั้นทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหรือปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อจัดการกับสิ่งต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ การเรียนรู้จึงเป็นการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมที่ได้รับอิทธิพลจากประสบการณ์ก่อนหน้า ดังนั้น ความรู้ ความสนใจ ทัศนคติ ทักษะและลักษณะบุคลิกภาพจึงล้วนเป็นผลมาจากการเรียนรู้ ธรรมชาติของการเรียนรู้นั้นไม่มีที่สิ้นสุดและเกิดขึ้นได้ง่ายถ้าสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่มีความหมายต่อผู้เรียน ซึ่งเมื่อเกิดขึ้นแล้วจะทำให้เกิดเป็นความสามารถติดตัวอย่างถาวรจนกว่าเซลล์ประสาทของร่างกาย หรือสมองจะโดนทำลายจนไม่สามารถรับรู้หรือสั่งการได้อีกต่อไป การเรียนรู้เป็นกระบวนการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมไปในทางที่ดีขึ้น ธรรมชาติของการเรียนรู้เป็นกระบวนการที่ผู้สอนจะต้องทำความเข้าใจก่อนเริ่มกระบวนการนั้น ๆ โดยพิจารณาจาก
1. ความต้องการ (Want) คือ เมื่อผู้เรียนมีความต้องการ เช่น อยากรู้อยากเห็น อยากทดลองในสิ่งใด ความต้องการนั้นจะเป็นสิ่งยั่วยุที่ส่งผลให้ผู้เรียนเกิดการแสวงหาความรู้หรือคำตอบตามความต้องการของตน
2. สิ่งเร้า (Stimulus) คือ สิ่งที่กระตุ้นประสาทสัมผัสของมนุษย์แล้วทำให้เกิดความสนใจและใส่ใจในสิ่งที่มากระตุ้น ดังนั้น สิ่งเร้าย่อมส่งผลให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้และศึกษาในสิ่งที่สนใจนั้น ๆ
3. การตอบสนอง (Response) เมื่อมีสิ่งเร้ามากระตุ้นให้เกิดความสนใจ มนุษย์จะทำการตอบสนองกับสิ่งเร้าต่าง ๆ ผ่านประสาทสัมผัสทางร่างกาย เช่น ตาดู หูฟัง ลิ้นชิม จมูกดม ผิวหนังสัมผัส และสัมผัสด้วยใจหรือความรู้สึก เกิดกระบวนการแปลความหมายของสิ่งเร้านั้นจากการรับรู้ไปสู่การจดจำและประสานความรู้เข้าด้วยกัน มีการเปรียบเทียบและเชื่อมโยงจนเกิดเป็นการจัดเก็บความรู้จนสามารถใช้ประกอบการคิดและการตัดสินใจได้อย่างมีเหตุมีผล
4. รางวัล (Reward) เมื่อเกิดการตอบสนองต่อสิ่งเร้าอย่างเหมาะสมย่อมได้รับผลที่เป็นรางวัลต่าง ๆ ตามมา เช่น รางวัลที่เป็นมูลค่าทางจิตใจ ความภาคภูมิใจ เกียรติยศศักดิ์ศรี การได้รับการยอมรับ ซึ่งเป็นกำไรชีวิตอย่างหนึ่งที่สามารถนำไปใช้พัฒนาคุณภาพชีวิตและส่งผลต่อการพัฒนาการเรียนรู้ให้ดียิ่งขึ้นหรือเพิ่มการเรียนรู้ในระดับที่สูงขึ้นต่อไปเรื่อย ๆ
เบนจามิน เอส บลูม (Benjamin Samuel Bloom, 1913-1999) นักการศึกษาที่มีชื่อเสียงชาวอเมริกัน เชื่อว่า การเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพของมนุษย์จำเป็นต้องอาศัยพฤติกรรมการเรียนรู้และจิตวิทยาพื้นฐาน โดยเมื่อมนุษย์เกิดการเรียนรู้จะเกิดการเปลี่ยนแปลงที่สัมพันธ์กันของพฤติกรรม 3 ด้าน คือ 1. ด้านพุทธิพิสัย (Cognitive Domain) หรือด้านความรู้ ความเข้าใจทางปัญญา ซึ่งเป็นความสามารถทางสมองของมนุษย์ในการสร้างความรู้ ความเข้าใจ จดจำ นำไปใช้ วิเคราะห์ สังเคราะห์ ประเมินค่าหรือสร้างสรรค์สิ่งต่าง ๆ 2. ด้านจิตพิสัย (Affective Domain) หรือด้านอารมณ์ ความรู้สึก ซึ่งเป็นลักษณะที่มนุษย์สามารถจัดการกับสิ่งต่าง ๆ ทางอารมณ์ เช่น การรับรู้ การตอบสนอง ความรู้สึก การให้คุณค่า ค่านิยม ความกระตือรือร้น แรงจูงใจ และทัศนคติ และ 3. ด้านทักษะพิสัย (Psychomotor Domain) หรือด้านจิตที่สัมพันธ์กับความสามารถทางร่างกาย ซึ่งเป็นการประสานงานของจิตกับการใช้ทักษะเคลื่อนไหวทางกายภาพ โดยการพัฒนาให้เกิดเป็นทักษะจะต้องอาศัยการฝึกฝน และวัดผลในแง่ของความรวดเร็วหรือความถูกต้องแม่นยำ (Donald Clark, 2015)
ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก Bloom’s Taxonomy from Vanderbilt University
เป้าหมายของการเรียนรู้
ยูเนสโก (UNESCO, 2014) นำเสนอ 4 เป้าหมายหลักและวิสัยทัศน์แห่งการเรียนรู้ ไว้ดังนี้
1. การเรียนเพื่อให้รู้ (Learning to know) การเรียนเพื่อรู้รวมถึงการเรียนเพื่อเรียนรู้ทักษะ การเรียนรู้ด้วยเครื่องมือที่มีอยู่ในการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งจะช่วยให้ผู้เรียนแต่ละบุคคลได้รับประโยชน์จากโอกาสทางการศึกษาที่เกิดขึ้นตลอดชีวิต โดยคำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วที่เกิดจากความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี เศรษฐกิจและการเปลี่ยนแปลงของสังคมรูปแบบใหม่ การเรียนรู้เพื่อให้เกิดความรู้จึงช่วยให้บุคคลสามารถผสมผสานและบูรณาการความรู้ในการศึกษาสาขาวิชาต่าง ๆ ทั่วไปเข้ากับความเป็นไปได้ในการทำงานและประกอบอาชีพต่าง ๆ
2. การเรียนเพื่อนำไปสู่การลงมือปฏิบัติ (Learning to do) เป็นการเรียนรู้เพื่อที่จะให้ตนเองมีความสามารถในการทำสิ่งต่าง ๆ ได้ และเน้นการได้มาซึ่งทักษะอาชีพที่จำเป็นในการประกอบอาชีพต่าง ๆ ความร่วมมือระหว่างโลกแห่งการศึกษากับธุรกิจและอุตสาหกรรมได้รับการสนับสนุนในแง่ของการส่งเสริมการเตรียมความพร้อมที่หลากหลาย ซึ่งกำหนดให้การศึกษาและการฝึกอบรมมีความสัมพันธ์กับโลกแห่งการทำงาน นอกเหนือจากการเรียนรู้ที่จะฝึกฝนอาชีพหรือประกอบธุรกิจแล้ว ผู้คนยังต้องพัฒนาความสามารถในการปรับตัวและทำงานเป็นทีมร่วมกับผู้อื่นได้ เพื่อให้สามารถแก้ปัญหาหรือแก้ไขสถานการณ์ที่เกิดขึ้นโดยไม่คาดคิด
3. การเรียนรู้เพื่อที่จะอยู่ร่วมกัน (Learning to live together) การเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นต่อมนุษย์เป็นอย่างมาก โดยจะต้องพัฒนาความเข้าใจผู้อื่น ประวัติศาสตร์ ประเพณีของแต่ละสังคมและจิตวิญญาณของแต่ละเชื้อชาติ ศาสนา ความเข้าใจดังกล่าวจะเป็นพื้นฐานสำหรับการรับรู้และสร้างเจตคติที่ดีต่อกัน รวมถึงการพึ่งพาอาศัยหรือเกื้อกูลซึ่งกันและกันที่เพิ่มมากขึ้นอย่างยั่งยืน การเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันและวิเคราะห์ร่วมกันเกี่ยวกับความเสี่ยงและความท้าทายในอนาคตจะกระตุ้นให้มนุษย์สามารถดำเนินโครงการร่วมกันหรือสามารถจัดการความขัดแย้งที่เกิดขึ้นด้วยวิธีที่ชาญฉลาดและสันติ และเพื่อลดวงจรอันตรายที่เกิดจากการดูถูกเหยียดหยาม เหยียดสีผิว เหยียดเชื้อชาติ ศาสนาและความไม่พึงพอใจในด้านต่าง ๆ
4. การเรียนรู้เพื่อที่จะเป็น (Learning to be) การเรียนรู้เพื่อที่จะเป็นหรือเป็นการเรียนรู้เพื่อชีวิตและเป็นในสิ่งที่ต้องการ มีหัวใจสำคัญคือการพัฒนาศักยภาพของมนุษย์ที่ทุกคนจะต้องใช้ความเป็นอิสระและวิจารณญาณร่วมกับความรู้สึกรับผิดชอบที่มีต่อส่วนรวม เพื่อนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายร่วมกัน โดยเริ่มต้นด้วยการตระหนักในตนเองว่ามีความสามารถที่จะประกอบสัมมาอาชีพและรู้จักที่จะมีปฏิสัมพันธ์ร่วมกับผู้อื่น และเป็นผู้สร้างสรรค์ให้เกิดประโยชน์ต่อผู้อื่น ชุมชน สังคม ประเทศชาติและสังคมโลก
รูปแบบความชอบในการเรียนรู้ที่แตกต่างของผู้เรียน (Learning Styles)
1. Visual Learning (ชอบการเรียนรู้จากการดูภาพเรื่องราวหรือเหตุการณ์) ผู้เรียนแบบนี้จะชอบการเรียนรู้และเรียนรู้ได้ดีเมื่อได้ใช้ประสาทสัมผัสทางตาในการรับรู้ภาพและเรื่องราว ซึ่งครูควรใช้รูปภาพประกอบการสอนแทนข้อความหรือจัดกิจกรรมที่ส่งเสริมให้ผู้เรียนได้ออกไปเรียนรู้นอกสถานที่หรือเรียนรู้ผ่านสื่อดิจิทัลเทคโนโลยี เพื่อจะได้เห็นภาพหรือเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่ช่วยกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้ได้เป็นอย่างดี
2. Auditory Learning (ชอบการเรียนรู้จากการฟัง) ผู้เรียนแบบนี้จะชอบการเรียนรู้และเรียนรู้ได้ดีเมื่อได้ใช้โสตประสาทเกี่ยวกับการฟัง เช่น ตั้งใจฟังครูพูดอธิบายหรือบรรยายมากกว่าการอ่านด้วยตนเอง และบางคนอาจจะชอบเปิดเพลงฟังขณะอ่านหนังสือหรือทำการบ้าน พฤติกรรมของผู้เรียนแบบนี้จึงเป็นผู้มีสุนทรียภาพทางเสียงดนตรี ซึ่งอาจจะมีความสามารถในการแสดงออกทางดนตรีหรือร้องเพลง
3. Kinesthetic Learning (ชอบการเรียนรู้จากการได้เคลื่อนไหวทางร่างกาย) ผู้เรียนแบบนี้จะชอบการเรียนรู้และเรียนรู้ได้ดีเมื่อได้ใช้กำลังในการทำกิจกรรม ซึ่งจะเป็นแสดงออกและการเคลื่อนไหวทางร่างกาย เช่น การเล่นกีฬา การทำกิจกรรมเกมและนันทนาการ การแสดง เล่นและเต้นรำ
4. Tactile Learning (ชอบการเรียนรู้จากการใช้ประสาทมือในการสัมผัส) ผู้เรียนแบบนี้จะชอบการเรียนรู้และเรียนรู้ได้ดีเมื่อได้ใช้มือสัมผัส หยิบจับ ปั้น วาดหรือขีดเขียนและลงมือทำ เช่น การปั้นดิน การวาดภาพระบายสี การเย็บ ปัก ถัก ร้อย และงานประดิษฐ์ต่าง ๆ
5. Individual Learning (ชอบการเรียนรู้ด้วยตนเอง) ผู้เรียนแบบนี้จะชอบเรียนรู้และเรียนรู้ได้ดีด้วยการใช้ความคิดและจินตนาการของตนเอง ซึ่งอาจจะเป็นผู้เรียนที่มีความสามารถพิเศษ สามารถทำความเข้าใจในการเรียนรู้หรือเรียนรู้ได้เร็วกว่าผู้อื่น ชอบอ่าน ชอบศึกษาค้นคว้า ลองผิดลองถูกและค้นหาคำตอบด้วยตนเอง ซึ่งเป็นลักษณะพฤติกรรมของบุคคลแบบพึ่งพาตนเองมากกว่ารอที่จะเรียนรู้จากครู
6. Group Learning (ชอบการเรียนรู้ด้วยการทำกิจกรรมกลุ่ม) ผู้เรียนแบบนี้จะชอบเรียนรู้และเรียนรู้ได้ดีด้วยการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น ซึ่งเป็นลักษณะพฤติกรรมการเรียนรู้ของผู้เรียนที่ชอบทำกิจกรรมทางสังคมและมีส่วนร่วมกับผู้อื่น โดยอาจจะเป็นทั้งผู้นำและผู้ตามที่ดีในการทำงานร่วมกัน
ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับแนวคิดของรูปแบบพฤติกรรมในการเรียนรู้ของผู้เรียนได้จาก Types of Learning Styles from Bay Atlantic University และ What are the four learning styles? from Sphero
รูปแบบของการเรียนรู้กับการเรียนการสอนเพื่อพัฒนาผู้เรียน
1. Concrete Experience (สร้างประสบการณ์ให้แน่นแฟ้น) โดยฝึกให้เรียนรู้จริงจากสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิต
2. Reflective Observation (สังเกตปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้น) โดยฝึกให้เรียนรู้จากการสังเกตแล้วสรุปความรู้ที่ได้จากการเชื่อมโยงประสบการณ์ด้วยตนเอง
3. Abstract Conceptual (สร้างความคิดเชิงนามธรรม) โดยฝึกให้ผู้เรียนใช้ความคิดจากการนิยามความหมาย สร้างหลักการด้วยเหตุและผล
4. Active Experimentation (ทดลองหรือลองผิดลองถูก) โดยฝึกให้ผู้เรียนได้เรียนรู้จากการทดลอง ลงมือปฏิบัติ และสรุปผลจากการทดลองด้วยตนเอง
2. รูปแบบของระบบการจัดการเรียนรู้หรือระบบการสอน
การจัดระบบการจัดการเรียนรู้เป็นการกำหนดขั้นตอนการเรียนการสอนที่จะใช้เป็นแบบแผนในการจัดกระบวนการเรียนรู้ให้กับผู้เรียน เพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ และบรรลุตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ลักษณะของรูปแบบการจัดการเรียนรู้หรือระบบการสอน มีดังนี้
1. มีปรัชญา แนวคิด หลักการ ทฤษฎีหรือความเชื่อที่ได้รับการยอมรับเป็นองค์ประกอบ
2. มีการบรรยายและอธิบายสภาพ หรือลักษณะของการจัดกระบวนการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับหลักการ
3. มีการจัดระบบ จัดองค์ประกอบและความสัมพันธ์ขององค์ประกอบให้สามารถนำผู้เรียนไปสู่เป้าหมายได้
4. มีการอธิบายหรือให้ข้อมูลเกี่ยวกับวิธีสอนและเทคนิคการสอนต่าง ๆ ที่ช่วยให้กระบวนการสอนนั้นเกิดประสิทธิภาพสูงสุด
นักการศึกษาหลายท่านได้นำเสนอแนวคิดของระบบการจัดการเรียนรู้หรือระบบการสอน สรุปสาระสำคัญ ที่น่าสนใจได้ดังต่อไปนี้
ระบบการสอนของไทเลอร์ (Tyler)
แนวคิดของไทเลอร์ (Tyler) ได้กำหนดระบบของการจัดการเรียนรู้หรือการจัดกระบวนการเรียนการสอนไว้ 3 ขั้นตอน คือ
1. กำหนดจุดมุ่งหมายการเรียนการสอน โดยในการวางแผนการสอนจะต้องมีการกำหนดจุดมุ่งหมายการเรียนการสอนให้ชัดเจน
2. กำหนดกิจกรรมการเรียนการสอน โดยเลือกจัดเนื้อหาและกิจกรรมการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับจุดมุ่งหมายที่กำหนดไว้
3. กำหนดการประเมินผลการเรียน โดยในการประเมินผลการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนจะต้องสอดคล้องกับจุดมุ่งหมายการเรียนการสอนนั้น ๆ
ระบบการสอนของกลาสเซอร์ (Glasser)
แนวคิดของกลาสเซอร์ (Glasser) ได้กำหนดระบบของการจัดการเรียนรู้หรือการจัดการเรียนการสอนไว้ 5 ขั้นตอน คือ
1. กำหนดจุดประสงค์การสอน
2. กำหนดการประเมินสถานะของผู้เรียนก่อนสอน เพื่อดูความพร้อม
3. กำหนดการจัดกระบวนการเรียนการสอน
4. กำหนดการประเมินผลการสอน
5. กำหนดการให้ข้อมูลย้อนกลับ ซึ่งเป็นการนำผลที่ได้จากการประเมินไปใช้ปรับปรุง แก้ไขการดำเนินกิจกรรมในข้างต้น
ระบบการสอนของบราวน์และคณะ (Brown et al.)
ระบบการสอนของบราวน์และคณะมีแนวคิดที่คำนึงถึงผู้เรียนเป็นศูนย์กลางในการเรียน โดยจัดกิจกรรมให้สอดคล้องกับความต้องการ ความสามารถ และความสนใจของผู้เรียน ดังนี้
1. กำหนดวัตถุประสงค์และเนื้อหา โดยเน้นการกำหนดวัตถุประสงค์เชิงพฤติกรรมที่สามารถวัดและสังเกตได้ชัดเจน และเลือกเนื้อหาให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์
2. กำหนดการจัดกิจกรรมที่เน้นการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ในลักษณะต่าง ๆ ที่หลากหลายเพื่อให้ตอบสนองต่อการเรียนรู้ของผู้เรียนแบบรายบุคคล
3. กำหนดการจัดรูปแบบการเรียนการสอน โดยจัดให้ผู้เรียนได้รับประสบการณ์การเรียนรู้ที่ดีที่สุดและคำนึงถึงกลุ่มของผู้เรียนที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์เชิงพฤติกรรม และเนื้อหาบทเรียน
4. กำหนดบุคลากรที่เกี่ยวข้อง ซึ่งหมายถึงบุคคลทุกคนที่มีส่วนร่วมในกิจกรรมการเรียนการสอน โดยเน้นการมีปฏิสัมพันธ์ร่วมกัน และเป็นที่ปรึกษาในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ
5. กำหนดวัสดุ อุปกรณ์และเครื่องมือที่นำมาใช้เป็นสิ่งที่จะช่วยสนับสนุนให้การจัดกิจกรรมการเรียนรู้บรรลุวัตถุประสงค์ได้สะดวกและง่ายขึ้น
6. กำหนดสถานที่และสิ่งอำนวยความสะดวก โดยคำนึงถึงการจัดสภาพห้องเรียนตามขนาดของผู้เรียน ตลอดจนจัดให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกในการใช้สนับสนุนการเรียนการสอน เช่น ห้องสมุด ห้องปฏิบัติการ
7. กำหนดการประเมินผลและการปรับปรุง เพื่อหาแนวทางในการปรับปรุงแก้ไขข้อบกพร่องต่าง ๆ ในการสอนครั้งต่อไป
ระบบการสอนของเยอร์ลาชและอีลี (Gerlach & Ely)
ระบบการสอนของเยอร์ลาชและอีลี (Gerlach & Ely) เป็นที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายทั่วไป มี 10 ขั้นตอน ดังนี้
1. การกำหนดวัตถุประสงค์เชิงพฤติกรรม
2. การกำหนดเนื้อหา โดยวิเคราะห์และเลือกเนื้อหาที่เหมาะสมกับผู้เรียน
3. การประเมินผลพฤติกรรมเบื้องต้น เพื่อให้ทราบถึงภูมิหลังของผู้เรียน
4. การกำหนดกลยุทธ์ของวิธีการสอน เช่น การอนแบบบรรยายโดยจัดเตรียมเนื้อหาให้สมบูรณ์แล้วใช้สื่อประกอบการสอนเนื้อหานั้นให้ผู้เรียน ได้เรียนรู้ หรือสอนแบบสืบเสาะหาความรู้ โดยให้ผู้เรียนได้ศึกษาค้นคว้าและค้นหาความรู้เพิ่มเติมด้วยตนเอง
5. การจัดแบ่งกลุ่มผู้เรียน เป็นการจัดกลุ่มผู้เรียนให้เหมาะสมกับวิธีการสอน เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกันอย่างเหมาะสม
6. การกำหนดเวลาเรียน กำหนดเวลาให้สอดคล้องกับเนื้อหา วัตถุประสงค์ สถานที่ และความสนใจของผู้เรียน
7. การจัดสถานที่เรียน ซึ่งจะต้องจัดให้สอดคล้องกับกลุ่มของผู้เรียน เช่น ห้องเรียนขนาดใหญ่ ห้องเรียนขนาดเล็ก สอนแบบกลุ่มย่อยหรือกลุ่มอภิปราย ส่วนห้องเรียนแบบเสรีหรืออิสระอาจจะเหมาะสำหรับสอนแบบรายบุคคล
8. การเลือกทรัพยากร เป็นการเลือกสื่อการสอนที่เหมาะสมกับวัตถุประสงค์ เนื้อหา วิธีการสอน และขนาดของกลุ่มผู้เรียน
9. การประเมินผล โดยประเมินพฤติกรรมผู้เรียนจากกระบวนการเรียนรู้ และปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้เรียนกับผู้เรียน ผู้สอนกับผู้เรียน ผู้เรียนกับสื่อ โดยยึดวัตถุประสงค์เป็นหลัก
10. การวิเคราะห์ข้อมูลย้อนกลับ โดยภายหลังจากประเมินผลเสร็จแล้วจะต้องวิเคราะห์ว่าผลที่เกิดขึ้นนั้นเป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้มากหรือน้อยเพียงใด มีข้อบกพร่องและจะมีแนวทางการแก้ไขได้อย่างไร
ระบบการสอนของโรเบิร์ต กาเย่ (Robert Gagne)
กาเย่ เชื่อว่า ผลการเรียนรู้หรือความสามารถด้านต่าง ๆ ของมนุษย์นั้น สามารถแบ่งออกได้เป็น 5 ประเภทคือ ทักษะทางปัญญา (Intellectual skill) กลวิธีในการเรียนรู้ (Cognitive strategy) ภาษาหรือคําพูด (Verbal information) ทักษะการเคลื่อนไหว (Motor skills) และเจตคติ (Attitude) โดยผลการเรียนรู้ทั้งหมดเกิดขึ้นจากกระบวนการจัดการข้อมูลในสมองของมนุษย์และอาศัยข้อมูลเหล่านั้นสำหรับการพิจารณาในการแสดงพฤติกรรมตอบสนองต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่ง และในขณะที่กระบวนการจัดการภายในสมองกําลังเกิดขึ้น เหตุการณ์ภายนอกร่างกายทั้งหมดต่างมีอิทธิพลต่อการส่งเสริมหรือการยับยั้งการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นภายในด้วย จุดมุ่งหมายของกาเย่คือเพื่อช่วยให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้เนื้อหาสาระต่าง ๆ ได้อย่างดี รวดเร็ว และสามารถจดจำสิ่งที่เรียนได้นาน กาเย่แบ่งระบบการสอนไว้ 9 ขั้นตอน ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ได้รับการยอมรับกันอย่างกว้างขวางสำหรับนำไปใช้ในการออกแบบและจัดการเรียนรู้ให้กับผู้เรียน
1. ขั้นกระตุ้นหรือดึงดูดความสนใจ (Gaining Attention) เป็นขั้นตอนแรกของการสอนเพื่อกระตุ้นความสนใจผู้เรียนให้เกิดการตื่นตัวและสนใจในสิ่งที่ครูกำลังจะสอน
2. ขั้นชี้แจงจุดประสงค์การเรียน (Informing Learners of the Objective) เป็นการแจ้งให้ผู้เรียนได้ทราบถึงจุดประสงค์หรือเป้าหมายและผลที่คาดว่าจะได้รับจากการเรียนรู้
3. ขั้นกระตุ้นเพื่อทบทวนความรู้เดิม (Stimulating Recall of Prior Learning) เป็นการใช้เทคนิควิธีการที่หลากหลายเพื่อกระตุ้นการทบทวนความรู้ที่ผู้เรียนมีอยู่ก่อนที่จะเริ่มการเรียนรู้ เช่น การใช้คำถาม และการใช้แบบทดสอบก่อนเรียน
4. ขั้นนำเสนอสิ่งเร้าการเรียน (Presenting the Stimulus) เป็นการนำเสนอสิ่งเร้าที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาสาระวิชา โดยเนื้อหาสาระของสิ่งเร้าควรมีความเฉพาะเจาะจงและเกี่ยวข้องกับผลการเรียนรู้หรือสอดคลองกับจุดประสงค์การเรียนรู้ที่กำหนดไว้ เช่น การใช้สื่อนำเสนอเนื้อหาที่น่าสนใจ
5. ขั้นให้คำแนะนำการเรียนรู้ (Providing Learning Guidance) เป็นการให้คำแนะนำหรือการอธิบายและยกตัวอย่างประกอบเพื่อให้ผู้เรียนเกิดความเข้าใจในเนื้อหาสาระที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น
6. ขั้นกระตุ้นให้เกิดประสิทธิภาพในการเรียน (Eliciting Performance) เป็นการกระตุ้นให้ผู้เรียนนำสิ่งที่ได้จากการเรียนรู้ไปใช้แก้ปัญหาในสถานการณ์ที่แตกต่างไปจากเดิม เช่น การทำแบบฝึกปฏิบัติ หรือกิจกรรมเพื่อแก้ปัญหาด้วยตนเองของผู้เรียน
7. ขั้นให้ข้อเสนอแนะหรือให้ข้อมูลย้อนกลับ (Providing Feedback) เป็นการให้ข้อเสนอแนะหรือข้อมูลป้อนกลับจากผู้สอนเพื่อให้ผู้เรียนได้เติมเต็มในสิ่งที่ขาดหายไปจากการทำกิจกรรมด้วยตนเองในขั้นตอนที่ผ่านมา รวมถึงให้การเสริมแรงแก่ผู้เรียน
8. ขั้นประเมินประสิทธิภาพการเรียน (Assessing Performance) เป็นขั้นตอนการตรวจสอบประสิทธิภาพหรือผลการเรียนรู้ของผู้เรียน เช่น การให้ทำใบงาน แบบฝึกหัด และการใช้แบบทดสอบหลังเรียน
9. ขั้นเสริมสร้างความคงทนและการถ่ายโอนความรู้ (Enhancing Retention and Transfer) เป็นขั้นตอนสุดท้ายของกระบวนการโดยอาจใช้วิธีการสรุป ทบทวน และเน้นย้ำประเด็นสำคัญที่ผู้เรียนจะต้องหมั่นฝึกฝนเพื่อนำไปใช้ในการเรียนรู้ครั้งต่อไปหรือนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน
ถ้าทำความเข้าใจในเนื้อหาของหัวข้อเรื่องนี้จบแล้ว อย่าลืมวัดค่าพลังการเรียนรู้เพื่อเก็บคะแนนด้วยนะครับ
References:
นรรัชต์ ฝันเชียร. (2563). มารู้จักหลักการสอน 9 ขั้นของกาเย่ (Gagne). สืบค้นเมื่อ 30 กันยายน 2563 เข้าถึงได้จาก https://www.trueplookpanya.com/education/content/82909/-teamet-
เบญจวรรณ กี่สุขพันธ์ พันพัชร ปิ่นจินดา และอลงกรณ์ เกิดเนตร. (2561). การจัดการเรียนรู้และการจัดการชั้นเรียน (พิมพ์ครั้งที่ 2). ศูนย์บริการสื่อและสิ่งพิมพ์กราฟฟิคไซท์ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต.
ทิศนา แขมมณี. (2561). ศาสตร์การสอน องค์ความรู้เพื่อการจัดกระบวนการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ (พิมพ์ครั้งที่ 22). กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
ศศิธร ศรีเวียง. (2556). การจัดการเรียนรู้. กรุงเทพฯ: โอเดียนสโตร์.
สุรางค์ โค้วตระกูล. (2559). จิตวิทยาการศึกษา (พิมพ์ครั้งที่ 12). กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
อาภรณ์ ใจเที่ยง. (2553). หลักการสอน ฉบับปรับปรุง (พิมพ์ครั้งที่ 5). กรุงเทพฯ: โอ.เอส. พริ้นติ้ง เฮาส์.
Donald Clark. (2015). Bloom’s Taxonomy of Learning Domains. Retrieved September 29, 2020, from http://www.nwlink.com/~donclark/hrd/bloom.html
Gagné, Robert M. (1985). The Conditions of Learning and Theory of Instruction (4th Edition). New York: CBS College Publishing.
International Center for Educators' Styles (ICES). (2017). Gagne’s Conditions of Learning Theory. Retrieved September 29, 2020, from https://eiclsresearch.wordpress.com/types-of-styles/learning-styles/gagne-robert/gagnes-conditions-of-learning-theory/
Jenny X. Montaño-González. (2017). Learning Strategies in Second Language Acquisition. US-China Foreign Language, 15(8).
John Parankimalil. (2014). Meaning and Nature of Learning. Retrieved September 29, 2020, from https://johnparankimalil.wordpress.com/2014/11/18/meaning-and-nature-of-learning/
Oxford, R. L. (1993). Research on second language learning strategies. Annual Review of Applied Linguistics, 13, 175–187.
UNESCO. (2014). Learning to Live Together Education Policies and Realities in the Asia-Pacific. Themma Group.