การออกแบบและจัดทำแผนจัดการเรียนรู้
"สวัสดีครับ เรื่องการออกแบบและจัดทำแผนจัดการเรียนรู้ คุณเลือกเรียนรู้ด้วยตนเอง ดังนั้น สามารถเลื่อนเมาส์อ่านและทำความเข้าใจเนื้อหาสาระได้ตามสะดวกได้เลยครับ หรือหากต้องการให้ Luca ช่วยอธิบายในหัวข้อใดก็คลิกฟังเสียง Luca ที่ด้านล่างของแต่ละหัวข้อนั้นได้เลยครับ และเมื่อจบเนื้อหาแล้วอย่าลืมวัดค่าพลังการเรียนรู้เพื่อเก็บคะแนนด้วยนะครับ (โดยเมื่อกดปุ่ม Back กลับไปยังหน้าหลักของบทเรียนจะมีรายการให้เลือกทำแบบทดสอบหลังเรียนครับ)"
แผนการจัดการเรียนรู้หรือแผนการสอน (Lesson Plan) ถือเป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับครูที่ใช้สำหรับจัดการเรียนรู้ในทุกระดับชั้น เปรียบเสมือนเป็นแผนที่นำทางที่ช่วยให้ครูสามารถดำเนินกิจกรรมและจัดการเรียนรู้ให้กับผู้เรียนได้อย่างเหมาะสม ตรงตามเป้าหมายและมีประสิทธิภาพ และในการจัดทำแผนการจัดการเรียนรู้ ครูผู้สอนจำเป็นต้องศึกษาและทำความเข้าใจเกี่ยวกับหลักสูตรแกนกลางและหลักสูตรสถานศึกษาให้ถ่องแท้ เพื่อจะได้ออกแบบและจัดทำแผนการจัดการเรียนรู้ได้อย่างเหมาะสมและถูกต้องครบถ้วน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาทั้งกับผู้เรียนและครูผู้สอน (นรรัชต์ ฝันเชียร, 2561)
การจัดทำแผนการจัดการเรียนรู้สำหรับครูในยุคดิจิทัลสามารถออกแบบการจัดกิจกรรมได้อย่างหลากหลาย ซึ่งแต่ละรูปแบบสามารถนำวิธีการสอนมาประยุกต์ใช้ร่วมกับแอปพลิเคชั่นและอุปกรณ์เทคโนโลยีต่าง ๆ เพื่อให้กระบวนการจัดการเรียนรู้มีประสิทธิภาพและบรรลุตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ และแผนการจัดการเรียนรู้ ถือเป็นส่วนหนึ่งของระบบการสอนที่เน้นการเตรียมความพร้อมสำหรับการจัดกิจกรรมไว้ล่วงหน้า โดยศึกษาข้อมูลที่เกี่ยวข้องแล้วจึงจัดทำเป็นแผนการจัดการเรียนรู้อย่างมีระบบ โดยออกแบบกิจกรรมในแต่ละขั้นตอนให้เชื่อมโยงกันตั้งแต่เริ่มต้นจนจบบทเรียน (เบญจวรรณ กี่สุขพันธ์ และคณะ, 2561)
ความหมายและความสำคัญของแผนการจัดการเรียนรู้
แผนการจัดการเรียนรู้หรือแผนการสอนจะช่วยให้การจัดการเรียนรู้ประสบความสำเร็จ และเป็นภารกิจสำคัญของครูที่จะทำให้ทราบล่วงหน้าว่าจะจัดการเรียนรู้อย่างไร ต้องกำหนดวัตถุประสงค์อย่างไร จัดกิจกรรมอย่างไร ใช้สื่อการเรียนรู้อะไรบ้าง วัดและประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียนด้วยวิธีการใด เป็นการเตรียมพร้อมก่อนการสอน การจัดทำแผนการจัดการเรียนรู้ได้อย่างถูกต้องตามหลักการจะช่วยให้เกิดความมั่นใจในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ ออกแบบกิจกรรมได้ครอบคลุมเนื้อหาและมีแนวทางหรือเป้าหมายที่ชัดเจน ซึ่งจะเป็นการจัดการเรียนรู้ที่ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้น ผู้สอนจึงจำเป็นต้องมีความเข้าใจเกี่ยวกับหลักการจัดการเรียนรู้ หลักการจัดทำแผนการจัดการเรียนรู้ที่ดีเพื่อให้สามารถจัดการเรียนรู้ไปสู่จุดมุ่งหมายที่กำหนดไว้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ (อาภรณ์ ใจเที่ยง, 2553) แผนการจัดการเรียนรู้มีความสำคัญต่อการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนของครูผู้สอนเป็นอย่างมาก ช่วยให้ครูผู้สอนได้เตรียมความพร้อมก่อนการจัดกิจกรรมและจัดกิจกรรมได้อย่างมั่นใจ ช่วยให้กิจกรรมในครั้งนั้นเป็นไปอย่างมีความหมาย และเป็นการจัดการเรียนรู้ที่ตรงตามจุดมุ่งหมายของหลักสูตร ส่งผลให้การจัดการเรียนรู้นั้นบรรลุผลได้อย่างมีประสิทธิภาพ และครูผู้สอนมีเอกสารสำคัญที่ใช้เป็นแนวทางในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน และช่วยให้ครูผู้สอนที่จะปฏิบัติการสอนแทนสามารถนำไปศึกษา ทำความเข้าใจและดำเนินการจัดกิจกรรมเพื่อให้ผู้เรียนได้รับความรู้ที่ต่อเนื่อง ซึ่งจะเป็นประโยชน์ทั้งต่อผู้เรียนและผู้ที่จะต้องเข้าสอนแทน ตลอดจนผู้สอนท่านอื่นสามารถนำไปใช้เป็นแนวทางสำหรับจัดการเรียนรู้ได้
แนวทางการวางแผนเพื่อออกแบบการจัดการเรียนรู้และจัดทำกำหนดการสอน
การวางแผนการจัดการเรียนรู้สามารถทำได้ 2 แนวทาง คือ การวางแผนระยะยาวและระยะสั้น ดังนี้
1. การวางแผนระยะยาว หมายถึง การวางแผนการสอนที่ยึดหน่วยการเรียนรู้ ครอบคลุมเนื้อหาสาระค่อนข้างกว้างและต้องใช้เวลาในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนเป็นเวลานาน เช่น ตลอดภาคเรียน ซึ่งจะเรียกว่ากำหนดการสอน และถือเป็นการเตรียมการสอนล่วงหน้าของผู้สอนในระยะยาวสำหรับวิชาใดวิชาหนึ่ง โดยกำหนดเนื้อหาสาระที่จะต้องดำเนินการสอนในระยะเวลาต่าง ๆ เช่น กำหนดการสอนตลอดทั้งปี ตลอดภาคเรียน ดังนั้น กำหนดการสอนจึงอาจแบ่งได้เป็น 3 แบบ คือ
1) กำหนดการสอนแบบรายปี
2) กำหนดการสอนแบบรายภาคเรียน
3) กำหนดการสอนแบบรายสัปดาห์
โดยการจัดทำกำหนดการสอนต้องคำนึงถึงกำหนดวันเปิดและปิดภาคเรียน วันหยุด วันสำคัญต่าง ๆ หรือการหยุดเรียนในวันที่มีกิจกรรมพิเศษ ตลอดจนกำหนดวันสอบย่อย สอบปลายภาคเรียน กำหนดการสอนจึงเปรียบเสมือนเป็นการกำหนดตารางเวลาสำหรับดำเนินการสอนของครูที่กำหนดเวลาและเนื้อหาสาระที่สอดคล้องสัมพันธ์กันอย่างเหมาะสม โดยกำหนดว่าเรื่องใดตอนใดต้องสอนก่อนหรือหลัง ใช้เวลาแต่ละเรื่องมากหรือน้อยเท่าใด ใช้โปรแกรมหรือแอปพลิเคชั่นใดในการจัดการเรียนรู้ ใช้สื่อและแหล่งทรัพยากรในการเรียนรู้ใดบ้าง จัดการเรียนรู้ด้วยแนวทางตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการอย่างไร เช่น จัดในห้องเรียนปกติของสถานศึกษา (Onsite) เรียนผ่านช่องทางออนไลน์ (Online) เรียนผ่านการถ่ายทอดหรือทางดิจิทัลทีวี (On Air) เรียนผ่านการใช้งานโปรแกรมสำเร็จรูปหรือแอปพลิเคชั่นต่าง ๆ (On Demand) หรือจัดส่งชุดแบบเรียน ใบงาน แบบฝึกหัดและสื่อการเรียนไปให้ผู้เรียนที่บ้านทางไปรษณีย์ (On Hand)
นอกจากนี้ยังสามารถเลือกใช้แนวทางจัดการเรียนรู้แบบผสมผสาน (Blended Learning/Hybrid Learning) ทั้งการผสมผสานด้วยแนวทางตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการและการผสมผสานผ่านสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ทางคลาวด์คอมพิวเตอร์ (On Cloud) ซึ่งจะช่วยให้ผู้สอนสามารถจัดกิจกรรมได้ตามที่กำหนด การจัดทำกำหนดการสอนจะทำเป็นแบบรายปี แบบรายภาคเรียนหรือแบบรายสัปดาห์ก็สามารถจัดทำร่วมกันได้ โดยจัดทำได้ตามความเหมาะสมที่ผู้สอนพิจารณาเห็นสมควร
หลักการจัดทำกำหนดการสอน
ครูผู้สอนควรจะต้องศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับหลักสูตร มาตรฐานการเรียนรู้และตัวชี้วัดในแต่ละระดับช่วงชั้น คุณลักษณะอันพึงประสงค์ ทักษะการรู้ใช้ดิจิทัล (Digital Literacy) และข้อมูลสำคัญที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาผู้เรียน ดังนั้น การทำกำหนดการสอนมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ผู้สอนกำหนดแนวทางในการสอนได้ระยะยาวตลอดทั้งปี หรือตลอดภาคการศึกษาว่าจะสอนอย่างไรให้เนื้อหากับเวลาของการสอนสอดคล้องสัมพันธ์กัน และในการจัดทำกำหนดการสอนนั้นสามารถทำได้โดย
1. คณะหรือกลุ่มผู้สอนที่สอนในระดับเดียวกันมาร่วมกันพิจารณาเพื่อจัดทำ
2. ช่วยกันสำรวจจำนวนคาบที่จะใช้ในการสอนแต่ละส่วนว่าเหมาะสมหรือไม่
3. นำหัวข้อหลักและหัวข้อย่อยมากำหนด โดยจัดให้สัมพันธ์กับเวลาหรือจำนวนคาบที่ใช้สอน และพิจารณาอย่างละเอียดถี่ถ้วน
4. พิจารณาจำนวนคาบหรือเวลาในแต่ละสัปดาห์ของแต่ละวิชาให้มีสัดส่วนที่เหมาะสมระหว่างเนื้อหากับเวลาเรียนในแต่ละหัวข้อ
2. การวางแผนระยะสั้น หมายถึง การวางแผนการจัดการเรียนรู้หรือแผนการสอนของบทเรียนแต่ละเรื่องหรือแต่ละครั้งที่สอน โดยจะมีการกำหนดจุดประสงค์การเรียนรู้ รายละเอียดของกิจกรรมในแต่ละขั้นตอน ระบุการใช้สื่อหรือทรัพยากรการเรียนรู้ พร้อมทั้งกำหนดการวัดและประเมินผลที่ชัดเจน เพื่อให้เป็นไปตามจุดมุ่งหมายและเป้าหมายของการเรียนรู้ที่กำหนดไว้ ซึ่งจะมีรูปแบบและรายละเอียดของแต่ละแผนดังที่จะกล่าวในหัวข้อถัดไป การวางแผนการจัดการเรียนรู้จะช่วยให้ผู้สอนได้เตรียมความพร้อมรอบด้าน ดังนั้น ผู้สอนจึงจำเป็นต้องวางแผนไว้ล่วงหน้าสำหรับจัดกิจกรรมการเรียนรู้ในทุกเรื่อง
ตัวอย่างแผนระยะยาวหรือกำหนดการสอน
รูปแบบของแผนการจัดการเรียนรู้
รูปแบบของการเขียนแผนการจัดการเรียนรู้สามารถแบ่งได้เป็น 2 รูปแบบ คือ
1) แบบเรียงหัวข้อ เป็นการเขียนเรียงลำดับตามหัวข้อที่กำหนดไว้ก่อนหลัง โดยไม่ต้องทำตาราง รูปแบบนี้มีข้อดี คือ สะดวกต่อการเขียนเพราะไม่เสียเวลาในการสร้างตารางเขียนได้ง่าย กระชับ แต่มีข้อจำกัด คือ ยากต่อการตรวจดูความสอดคล้องสัมพันธ์กันของแต่ละหัวข้อ โดยเป็นการเขียนเรียงกันไปตามหัวข้อต่าง ๆ และ
2) แบบกึ่งหัวข้อกึ่งตาราง รูปแบบนี้เป็นแบบที่แสดงให้เห็นเป็นช่องๆ ตามลำดับก่อนหลัง ซึ่งเป็นรูปแบบที่ผู้ออกแบบการสอนจะต้องสร้างตารางเพื่อให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างจุดประสงค์การเรียนรู้ เนื้อเรื่อง กิจกรรมการเรียนการสอน สื่อการเรียน การประเมินผล และหมายเหตุ โดยส่วนที่เขียนเรียงหัวข้อ ได้แก่ ชื่อวิชาและระดับชั้น ชื่อหน่วย ชื่อเรื่อง เวลาที่ใช้สอนเป็นคาบหรือเป็นชั่วโมง รวมถึงความคิดรวบยอดหรือสาระสำคัญ และส่วนที่กำหนดเป็นตาราง ได้แก่ จุดประสงค์นำทาง กิจกรรมการเรียนการสอน สื่อการเรียนการสอน การวัดและการประเมินผล และข้อเสนอแนะ
ตัวอย่างแผนจัดการเรียนรู้แบบเรียงหัวข้อ
ตัวอย่างแผนจัดการเรียนรู้แบบกึ่งตาราง
หลักการทำแผนจัดการเรียนรู้
1. ศึกษาหลักสูตร คู่มือครู หรือเอกสารอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
2. ความมุ่งหมายของกลุ่มสาระที่สอน ต้องให้ครอบคลุมจุดมุ่งหมายการศึกษา ทั้ง 3 ด้าน ได้แก่ ความรู้ เจตคติ และทักษะ
3. กำหนดขอบเขตของเนื้อหาให้ชัดเจน
4. ทำความเข้าใจเนื้อหาวิชาที่จะสอน
5. พิจารณาเลือกวิธีสอนที่เหมาะสมกับเนื้อหา วัย วุฒิภาวะของผู้เรียน และควรให้เกิดประโยชน์สูงสุดสำหรับที่จะสอน
6. เลือกสื่อการเรียนการสอนให้เหมาะสมกับวิธีสอน
7. กำหนดกิจกรรมการเรียนรู้ที่หลากหลายและต่อเนื่อง
8. ดำเนินการวัดและประเมินผลทุกครั้งที่กำหนดการสอน ด้วยวิธีต่าง ๆ ที่สอดคล้องกับจุดประสงค์ที่กำหนดไว้
ลักษณะของแผนจัดการเรียนรู้ที่ดี
1. มีความเหมาะสม สอดคล้องกับจุดมุ่งหมายของหลักสูตร
2. กำหนดจุดประสงค์ได้สอดคล้องกับเนื้อหา เหมาะสมกับผู้เรียน และบริบทของสิ่งแวดล้อม ชุมชน สังคม และท้องถิ่น
3. จัดเนื้อหาสาระได้เหมาะสมกับผู้เรียน เวลา ความต้องการ สภาพความเป็นจริงของท้องถิ่น
4. จัดลำดับหัวข้อ รายละเอียดของเนื้อหาแต่ละส่วนให้กลมกลืนผู้เรียนสามารถเชื่อมโยงประสบการณ์เดิมไปสู่ประสบการณ์ใหม่ได้
5. กำหนดระยะเวลาที่จะทำกิจกรรมการเรียนการสอนแต่ละเรื่องแต่ละหัวข้อให้เหมาะสม
6. กำหนดกิจกรรมและการฝึกประสบการณ์ให้กับผู้เรียน โดยคำนึงถึงวัยความต้องการ ความสนใจของผู้เรียน และการนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในชีวิตประจำวันของผู้เรียนได้อย่างแท้จริง
ขั้นตอนการออกแบบหรือเขียนแผนจัดการเรียนรู้
1. ศึกษาแผนการสอนแม่บทและปรับแผนการสอน โดยแบ่งหัวข้อของเนื้อหาให้ย่อยลงไป
2. ศึกษาความคิดรวบยอดทั้งหมดของบทหรือเรื่องนั้น ๆ ให้เข้าใจ
3. ศึกษาจุดประสงค์ และมาตรฐานการเรียนรู้ทั้งหลายของสาระการเรียนรู้นั้น
4. ศึกษาเนื้อหาและรายละเอียดว่ามีความสอดคล้องกับสาระในจุดประสงค์ข้อใด และความคิดรวบยอดข้อใด
5. ศึกษากิจกรรมการเรียนรู้ทั้งหมดที่จะนำมาใช้ในการออกแบบ
6. ศึกษาการวัดผลและการประเมินผลแต่ละครั้งที่สอนว่าใช้วิธีการอย่างไร
องค์ประกอบของแผนจัดการเรียนรู้
1. กลุ่มสาระวิชาและชื่อเรื่องที่จะสอน
2. ความคิดรวบยอดหรือสาระสำคัญ
3. จุดประสงค์หรือผลลัพธ์การเรียนรู้
4. เนื้อหาของการเรียน
5. กระบวนการจัดการเรียนรู้/กิจกรรมการเรียนรู้
6. สื่อการเรียนรู้และแหล่งการเรียนรู้
7. การวัดและการประเมินผล
8. หมายเหตุหรือบันทึกหลังการสอน
รายละเอียดองค์ประกอบการออกแบบหรือเขียนแผนจัดการเรียนรู้
1. สาระสำคัญหรือสาระการเรียนรู้ เป็นความคิดรวบยอดของเนื้อหาซึ่งสรุปให้เห็นภาพรวมของเนื้อหาทั้งหมด
2. จุดประสงค์การเรียนรู้ เป็นข้อความที่ระบุถึงผลที่คาดหวังหรือจุดมุ่งหมายที่ต้องการให้เกิดขึ้นกับผู้เรียนเมื่อผ่านกิจกรรมการเรียนรู้ หรือเมื่อเรียนจบตามแผนการสอนนั้น ๆ แบ่งเป็น
- จุดประสงค์ทั่วไป หรือ “จุดประสงค์ปลายทาง” หมายถึง จุดประสงค์การเรียนที่ต้องการให้เกิดขึ้น เมื่อการเรียนการสอนเรื่องนั้น ๆ เสร็จสิ้นลง โดยเป็นการกำหนดแบบกว้าง ๆ ไม่ได้เน้นเฉพาะหรือเจาะจงพฤติกรรม
- จุดประสงค์เฉพาะ หรือ “จุดประสงค์นำทาง” หมายถึง จุดประสงค์การเรียนการสอนในรูปของพฤติกรรมที่ต้องการให้เกิดขึ้น หลังจากที่ผู้เรียนได้ศึกษาเนื้อหาในบทเรียนแล้ว ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่สังเกตและวัดได้
3. เนื้อหา เป็นรายละเอียดของเนื้อหาหรือประเด็นหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาที่จะนำมาใช้ในการสอน ซึ่งจะต้องวิเคราะห์เนื้อหาสาระการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับหลักสูตรและเหมาะสมกับการเรียนรู้ของผู้เรียน ระดับชั้นและเวลาที่ใช้ในการเรียนรู้
4. กิจกรรมการเรียนรู้ เป็นการกำหนดขั้นตอนในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน โดยต้องออกแบบกิจกรรมให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ตามจุดประสงค์หรือมาตรฐานการเรียนรู้ที่กำหนดไว้และเกิดความเข้าใจเกี่ยวกับความคิดรวบยอดในแผนการจัดการเรียนรู้นั้น ๆ เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญและมีกิจกรรมการเรียนรู้ที่หลากหลายเพื่อตอบสนองความแตกต่างระหว่างบุคคล ประกอบด้วย 3 ขั้นตอนหลัก ได้แก่
- ขั้นนำเข้าสู่บทเรียน เป็นการเขียนระบุกิจกรรมที่นำมาใช้เพื่อกระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดความสนใจเรื่องที่จะเรียน โดยกิจกรรมนั้นต้องน่าสนใจ และสามารถดึงดูดความสนใจของผู้เรียนได้ หรือสามารถเชื่อมโยงกับบทเรียน ซึ่งอาจใช้ช่วงเวลาสั้น ๆ ในการนำเข้าสู่บทเรียน
- ขั้นกิจกรรมการเรียนรู้ เป็นการเขียนรายละเอียดของกิจกรรมแต่ละขั้นตอนของวิธีสอน ซึ่งมีได้หลายวิธี แต่ละวิธีมีขั้นตอนและรายละเอียดที่แตกต่างกัน กิจกรรมต้องเน้นให้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลางในการเรียนรู้ และได้ลงมือปฏิบัติ ตลอดจนใช้ทักษะการคิดวิเคราะห์และแก้ปัญหา ผู้สอนจะมีบทบาทเป็นเพียงผู้ให้คำแนะนำและอำนวยความสะดวกในการเรียนรู้ให้กับผู้เรียน
- ขั้นสรุปบทเรียน เป็นการระบุกิจกรรมที่ให้ผู้เรียนได้สรุป ทบทวนความเข้าใจในบทเรียน โดยอาจจะเป็นการใช้คำถามเพื่อทบทวนถึงสิ่งที่ได้เรียนรู้ หรือให้ผู้เรียนทำแบบฝึกหัด-แบบทดสอบ
5. สื่อการเรียนรู้และแหล่งการเรียนรู้ เป็นการระบุถึงสื่อและแหล่งทรัพยากรที่จะนำมาใช้ในการจัดการเรียนรู้ โดยต้องเลือกใช้สื่อที่สามารถกระตุ้นและส่งเสริมการเรียนรู้ของผู้เรียนได้เป็นอย่างดี มีความน่าสนใจ หลากหลาย ทันสมัย เช่น ของจริง ของจำลอง รูปภาพ สถานที่ แหล่งการเรียนรู้หรือสื่อเทคโนโลยีต่างๆ
6. การวัดผลและประเมินผล เป็นการระบุวิธีตรวจสอบการเรียนของผู้เรียนว่าเป็นไปตามจุดประสงค์การเรียนรู้หรือไม่ โดยต้องเลือกใช้วิธีการให้เหมาะสมกับเนื้อหาสาระ ความพร้อม วุฒิภาวะ ระดับอายุ และความสามารถของผู้เรียน โดยคำนึงถึงความสัมพันธ์และตรงตามจุดประสงค์การเรียนรู้ที่กำหนดไว้ ซึ่งอาจแยกเป็นก่อนสอน ระหว่างสอนและหลังสอน
7. กิจกรรมเสนอแนะ เป็นรายการบันทึกกิจกรรมการสอนของผู้จัดทำแผนการสอนหรือผู้ใช้แผนการสอน โดยเป็นการให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับกิจกรรมภายหลังจากที่ได้ปฏิบัติการสอนไปแล้วว่าเป็นไปตามแผนที่ออกแบบไว้ อย่างไร ควรปรับลดหรือเพิ่มเวลาตรงส่วนไหน เป็นต้น
8. ข้อเสนอแนะของผู้บังคับบัญชา เป็นรายการสำหรับบันทึกข้อเสนอแนะของผู้บังคับบัญชาหลังตรวจแผนการสอน
9. บันทึกการสอน เป็นการบันทึกของผู้สอนหลังจากนำแผนไปใช้แล้ว เพื่อเป็นการปรับปรุงและใช้ในครั้งต่อไป มี 3 หัวข้อ คือ
9.1 ผลการเรียน เป็นการบันทึกผลการเรียนด้านสุขภาพและปริมาณทั้ง 3 ด้าน คือด้านพุทธิพิสัย จิตพิสัย และทักษะพิสัย
9.2 ปัญหาและอุปสรรค เป็นการบันทึกปัญหาและอุปสรรคที่เกิดขึ้นในขณะสอน ก่อนสอน และหลังทำการสอน
9.3 ข้อเสนอแนะ/แนวทางแก้ไข เป็นการบันทึกข้อเสนอแนะอื่นๆ เพื่อแก้ไขปรับปรุงการเรียนการสอนครั้งต่อไป
แนวทางการเขียนจุดประสงค์เชิงพฤติกรรม
จุดประสงค์เชิงพฤติกรรมเป็นจุดประสงค์ที่สามารถสังเกตและวัดได้เมื่อผู้เรียนศึกษาหรือเรียนเรื่องนั้นแล้วเกิดการเรียนรู้และมีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม โดยเกณฑ์สำหรับการประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียน ประกอบด้วย
1. ด้านความรู้ (K : Knowledge)
2. ด้านทักษะกระบวนการ (P : Process)
3. ด้านเจตคติหรือคุณลักษณะอันพึงประสงค์ (A : Attitude/Attribute)
ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการเขียนจุดประสงค์การเรียนรู้
ส่วนประกอบของโครงสร้างในการเขียนจุดประสงค์เชิงพฤติกรรม
โครงสร้างประโยคในการเขียนจุดประสงค์เชิงพฤติกรรม ประกอบด้วย 3 ส่วนหลัก ได้แก่
ส่วนที่ 1 สถานการณ์หรือเงื่อนไข เช่น เมื่อจบบทเรียนแล้ว หรือ เมื่อกำหนดให้
ส่วนที่ 2 พฤติกรรมที่คาดหวัง เช่น สามารถอ่าน สามารถเขียน สามารถแก้โจทย์ปัญหา
และส่วนที่ 3 เกณฑ์ที่ใช้ในการตัดสิน ประกอบด้วย
1) เกณฑ์อย่างง่าย ซึ่งมักจะระบุเป็นคำว่าได้ต่อจากพฤติกรรม เช่น ทำได้ บอกได้ เขียนได้
2) เกณฑ์เชิงปริมาณ ซึ่งระบุเป็น ร้อยละ จำนวน หรือปริมาณ เช่น ได้อย่างน้อย 3 ชนิด หรือได้ทุกรายการ
3) เกณฑ์เชิงคุณภาพ ซึ่งระบุเป็น ระดับคุณภาพ เช่น ได้อย่างถูกต้อง ได้อย่างสวยงาม
4) เกณฑ์ที่กำหนดเวลา ซึ่งระบุเป็นเวลาที่ต้องทำให้สำเร็จ เช่น ได้ทันที หรือภายในเวลา 3 นาที เป็นต้น
ตัวอย่างโครงสร้างประโยคการเขียนจุดประสงค์เชิงพฤติกรรม
1. เมื่อกำหนดชื่อสถานที่ต่าง ๆ ให้ 10 ชื่อ นักเรียนสามารถจับคู่ชื่อสถานที่กับบัตรภาพได้ถูกต้องทุกชื่อ
คำอธิบายเกี่ยวกับตัวอย่างจุดประสงค์ข้อที่ 1 ประกอบด้วยโครงสร้างของประโยคทั้ง 3 ส่วน โดย
- สถานการณ์หรือเงื่อนไข คือ เมื่อกำหนดชื่อสถานที่ต่าง ๆ ให้ 10 ชื่อ
- พฤติกรรมที่คาดหวัง คือ นักเรียนสามารถจับคู่ชื่อสถานที่กับบัตรภาพ (โดยคำบ่งชี้ถึงพฤติกรรม คือ จับคู่)
- เกณฑ์ คือ ได้ถูกต้องทุกชื่อ (เป็นเกณฑ์เชิงคุณภาพและเชิงปริมาณ)
2. เมื่อกำหนดโจทย์ปัญหาการบวกลบระคนให้ 5 ข้อ นักเรียนสามารถแก้โจทย์ปัญหาได้อย่างถูกต้อง อย่างน้อย 3 ข้อ
คำอธิบายเกี่ยวกับตัวอย่างจุดประสงค์ข้อที่ 2 ประกอบด้วยโครงสร้างของประโยคทั้ง 3 ส่วน โดย
- สถานการณ์หรือเงื่อนไข คือ เมื่อกำหนดโจทย์ปัญหาการบวกลบระคนให้ 5 ข้อ
- พฤติกรรมที่คาดหวัง คือ นักเรียนสามารถแก้โจทย์ปัญหา (โดยคำบ่งชี้ถึงพฤติกรรม คือ แก้โจทย์ปัญหา)
- เกณฑ์ คือ ได้อย่างถูกต้อง อย่างน้อย 3 ข้อ (เป็นเกณฑ์เชิงคุณภาพและเชิงปริมาณ)
3. หลังจากนักเรียนจับฉลากคำในมาตราแม่กก นักเรียนสามารถแต่งประโยคได้ภายในเวลา 1 นาที
คำอธิบายเกี่ยวกับตัวอย่างจุดประสงค์ข้อที่ 3 ประกอบด้วยโครงสร้างของประโยคทั้ง 3 ส่วน โดย
- สถานการณ์หรือเงื่อนไข คือ หลังจากนักเรียนจับฉลากคำในมาตราแม่กก
- พฤติกรรมที่คาดหวัง คือ นักเรียนสามารถแต่งประโยค (โดยคำบ่งชี้ถึงพฤติกรรม คือ แต่งประโยค)
- เกณฑ์ คือ ได้ภายในเวลา 1 นาที (เป็นเกณฑ์ที่กำหนดเวลา)
4. นักเรียนสามารถบอกประโยชน์ของการรับประทานอาหารพื้นบ้านได้
คำอธิบายเกี่ยวกับตัวอย่างจุดประสงค์ข้อที่ 4 ประกอบด้วยโครงสร้างของประโยคเพียง 2 ส่วน ได้แก่
- พฤติกรรมที่คาดหวัง คือ นักเรียนสามารถบอกประโยชน์ของการรับประทานอาหารพื้นบ้าน (โดยคำบ่งชี้ถึงพฤติกรรม คือ บอก)
- เกณฑ์ คือ ได้ (เป็นเกณฑ์อย่างง่าย)
* จากตัวอย่างทั้ง 4 ข้อจะพบว่า ส่วนประกอบสำคัญของประโยคในการเขียนจุดประสงค์เชิงพฤติกรรมที่มีความจำเป็นและขาดไม่ได้คือ พฤติกรรมที่คาดหวังกับ เกณฑ์ที่ใช้ในการตัดสิน ส่วนสถานการณ์หรือเงื่อนไข อาจจะมีหรือไม่มีก็ได้ *
ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการเขียนแผนการจัดการเรียนรู้
แผนการจัดการเรียนรู้ที่ดีควรมีลักษณะดังนี้
1. มีความละเอียด ชัดเจน มีหัวข้อและส่วนประกอบต่าง ๆ ครอบคลุมตามศาสตร์ของการสอน โดยสามารถตอบคำถามต่อไปนี้
- สอนอะไร (หน่วย หัวเรื่อง ความคิดรวบยอดหรือสาระสำคัญ)
- เพื่อจุดประสงค์อะไร (เน้นจุดประสงค์พฤติกรรม และควรมีให้ครบทั้ง K-P-A)
- สอนด้วยสาระใด (เนื้อหาสาระ) และใช้วิธีการใดในการสอน
- ใช้อะไรเป็นสื่อประกอบการสอน และประเมินผลอย่างไร
2. ส่วนประกอบของแผนสอดคล้องสัมพันธ์เชื่อมโยงกัน เช่น
- จุดประสงค์ครอบคลุมเนื้อหาสาระและเน้นการพัฒนาผู้เรียนด้านความรู้ ทักษะ และเจตคติหรือคุณลักษณะที่ดีงาม
- กระบวนการจัดการเรียนรู้สอดคล้องกับจุดประสงค์ เนื้อหา
- สื่อและแหล่งเรียนรู้สอดคล้องกับกิจกรรมการเรียนรู้
- การวัดและประเมินผลสอดคล้องกับจุดประสงค์
3. แผนการสอนสามารถนำไปปฏิบัติใช้ได้จริง
ตัวอย่าง การออกแบบกระบวนการจัดการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับจุดประสงค์การเรียน
ตัวอย่าง การใช้ตารางเพื่อฝึกปฏิบัติทักษะการออกแบบกิจกรรมสำหรับจัดการเรียนรู้
กิจกรรมที่ 1 ฝึกทักษะปฏิบัติการเขียนจุดประสงค์การเรียนรู้
งานมอบหมายเพื่อนำส่งหลังทำกิจกรรมที่ 1 (5 คะแนน)
ฝึกปฏิบัติเขียนจุดประสงค์การเรียนรู้เชิงพฤติกรรมในรายวิชาหรือในเรื่องที่สนใจ จํานวน 5 ข้อ โดยกําหนดให้จุดประสงค์แต่ละข้อ มีส่วนประกอบครบทั้ง สถานการณ์หรือเงื่อนไข พฤติกรรมที่พึงประสงค์ และเกณฑ์ที่ใช้ในการตัดสิน (นําส่งงานมอบหมายโดย Upload เข้าสู่ระบบ เพื่อให้ผู้สอนตรวจสอบความถูกต้องและประเมินให้คะแนนพร้อมทั้งให้ข้อเสนอแนะ)
กิจกรรมที่ 2 ฝึกทักษะปฏิบัติการออกแบบแผนจัดการเรียนรู้
งานมอบหมายเพื่อนำส่งหลังทำกิจกรรมที่ 2 (30 คะแนน)
ฝึกปฏิบัติทักษะการเขียนแผนการจัดการเรียนรู้ในรายวิชา หรือเรื่องและระดับชั้นที่สนใจ ดังนี้
1. ใช้ตารางการออกแบบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ เพื่อวิเคราะห์ความสอดคล้องของจุดประสงค์การเรียนรู้ที่กำหนดในแต่ละข้อกับกระบวนการกิจกรรม สื่อ-เครื่องมือหรือแหล่งเรียนรู้ และวิธีการตวจสอบผลลัพธ์ (10 คะแนน)
2. นำผลที่ได้จากตารางการออกแบบในข้อที่ 1 มาจัดทำให้เป็นแผนการจัดการเรียนรู้ที่มีองค์ประกอบครบถ้วนตามโครงสร้างของแผนการจัดการเรียนรู้ (20 คะแนน)
(นําส่งงานมอบหมายโดย Upload เข้าสู่ระบบ เพื่อให้ผู้สอนตรวจสอบความถูกต้องและประเมินให้คะแนนพร้อมทั้งให้ข้อเสนอแนะ)
References:
ชนาธิป พรกุล. (2552). การออกแบบการสอน การบูรณาการการอ่าน การคิดวิเคราะห์และการเขียน (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
นรรัชต์ ฝันเชียร. (2561). แผนการสอนที่ดีควรมีลักษณะอย่างไร. สืบค้นเมื่อ 7 มิถุนายน 2563, เข้าถึงได้จาก https://www.trueplookpanya.com/blog/content/68995/-blog-teamet-
นวลจิตต์ เชาวกีรติพงศ์. (2560). การพัฒนาแบบฝึกการเขียนแผนการจัดการเรียนรู้วิชาวิทยาศาสตร์สำหรับครูวิชาเอกวิทยาศาสตร์. Veridian E-Journal, Silpakorn University (Humanities, Social Sciences and Arts), 10(1), 656–665.
เบญจวรรณ กี่สุขพันธ์ พันพัชร ปิ่นจินดา และอลงกรณ์ เกิดเนตร. (2561). การจัดการเรียนรู้และการจัดการชั้นเรียน. ศูนย์บริการสื่อและสิ่งพิมพ์กราฟฟิคไซท์.
ศิริวรรณ วณิชวัฒนวรชัย. (2558). วิธีสอนทั่วไป. นครปฐม: คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร.
สุพิน บุญชูวงค์. (2548). หลักการสอน. กรุงเทพฯ: คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต.
อาภรณ์ ใจเที่ยง. (2553). หลักการสอน ฉบับปรับปรุง (พิมพ์ครั้งที่ 5). โอ.เอส. พริ้นติ้ง เฮาส์.
Green, A. H. B. & T. D. (2016). The Essentials of Instructional Design (3nd Ed.). In The Essentials of Instructional Design. Routledge. https://doi.org/10.4324/9781315757438
Herrington, J. and Oliver, R. (2000). An instructional design framework for authentic learning environments. Educational Technology Research and Development, 48(3), 23–48.
Stauffer, B. (2019). What Is a Lesson Plan?. Retrieved October 15, 2020, from https://www.aeseducation.com/blog/what-is-a-lesson-plan