ทฤษฎีการเรียนรู้

"สวัสดีครับ เรื่องทฤษฎีการเรียนรู้ คุณเลือกเรียนรู้ด้วยตนเอง ดังนั้น สามารถเลื่อนเมาส์อ่านและทำความเข้าใจเนื้อหาสาระได้ตามสะดวกได้เลยครับ หรือหากต้องการให้ Luca ช่วยอธิบายในหัวข้อใดก็คลิกฟังเสียง Luca ที่ด้านล่างของแต่ละหัวข้อนั้นได้เลยครับ และเมื่อจบเนื้อหาแล้วอย่าลืมวัดค่าพลังการเรียนรู้เพื่อเก็บคะแนนด้วยนะครับ (โดยเมื่อกดปุ่ม Back กลับไปยังหน้าหลักของบทเรียนจะมีรายการให้เลือกทำแบบทดสอบหลังเรียนครับ)"

ทฤษฎีการเรียนรู้เป็นแนวความคิดที่ได้รับการยอมรับว่าสามารถใช้อธิบายลักษณะการเกิดการเรียนรู้หรือการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมได้ การจัดการเรียนรู้คือแนวคิดที่เป็นหลักของการปฏิบัติทางการสอนที่สอดคล้องกับทฤษฎีการเรียนรู้ต่าง ๆ (ทิศนา แขมมณี, 2561) การเรียนรู้เป็นกระบวนการที่ละเอียดอ่อนและซับซ้อน นักการศึกษาและนักจิตวิทยาได้พยายามศึกษาสภาพการเรียนรู้ของมนุษย์ว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร มีกระบวนการอะไรบ้างที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งการถ่ายโอนความรู้ไปสู่สถานการณ์ได้อย่างไร (เบญจวรรณ กี่สุขพันธ์, 2558)

ทฤษฎีการเรียนรู้แบบวางเงื่อนไข หรือทฤษฎีการเรียนรู้แบบคลาสสิก
อิวาน พาฟลอฟ นักจิตวิทยาชาวรัสเซีย ทดลองการวางเงื่อนไขด้วยการสั่นกระดิ่งกับการให้อาหารสุนัข
และจอห์น บี วัตสัน นักจิตวิทยาชาวอเมริกัน ทดลองการวางเงื่อนไขกับอารมณ์และความกลัวของมนุษย์

   พาฟลอฟ เชื่อว่า สุนัขเกิดการเรียนรู้จากการเชื่อมโยงระหว่างสิ่งเร้ากับการตอบสนอง โดยเรียกรูปแบบของการเชื่อมโยงว่า “การวางเงื่อนไขแบบคลาสสิก” และทำให้ทราบว่าการเรียนรู้เกิดจากการสร้างความสัมพันธ์เชื่อมโยง ระหว่างการตอบสนองต่อสิ่งเร้าที่เป็นกลาง ซึ่งสรุปเป็นกฎเกณฑ์การเรียนรู้ได้ 4 ข้อ ดังนี้
1. การลดพฤติกรรมหรือหยุดยั้งพฤติกรรม หลังจากที่สุนัขเรียนรู้แล้ว พาฟลอฟได้ทดลองให้เฉพาะเสียงกระดิ่งเพียงอย่างเดียวไปเรื่อย ๆ โดยไม่ให้เนื้อบดเลย ผลปรากฏว่าการตอบสนองจะค่อย ๆ ลดลง จนในที่สุดน้ำลายสุนัขจะหยุดไหล
2. การฟื้นกลับของพฤติกรรม หมายถึง การกลับมาตอบสนองใหม่อีกครั้ง หลังจากหยุดยั้งพฤติกรรมไปแล้ว โดยพาฟลอฟทำการทดลองใหม่อีกครั้ง หลังจากที่น้ำลายสุนัขหยุดไหลไประยะหนึ่ง ผลปรากฏว่าเสียงกระดิ่งที่มาพร้อมกับอาหารทำให้น้ำลายของสุนัขกลับมาไหลได้อีก
3. การสรุปความเหมือนกันหรือคล้ายกัน สุนัขตอบสนองต่อเสียงอย่างอื่นที่รับรู้ว่า คล้ายกับเสียงเดิม เช่น สุนัขน้ำลายไหลเมื่อได้ยินเสียงอื่น ๆ ที่คล้ายกับเสียงกระดิ่งที่มาจากเจ้าของ
4. การจำแนกความแตกต่าง สุนัขไม่ตอบสนองเสียงกระดิ่งที่มาจากบุคคลอื่น แสดงว่าสุนัขสามารถแยกความแตกต่างระหว่างเสียงเดิมจากเจ้าของกับเสียงที่มาจากแหล่งอื่นได้
- ส่วนการศึกษาทฤษฎีการวางเงื่อนไขของวัตสันทำให้ทราบว่า อารมณ์กลัวของมนุษย์ เกิดจากการเรียนรู้ที่ถูกการวางเงื่อนไขให้ตกใจหรือกลัว

ตัวอย่างการทดลองของพาฟลอฟ (Pavlov’s Classical Conditioning)
ที่มา: Sprouts: Pavlov’s Classical Conditioning,  https://youtu.be/jd7Jdug5SRc

ตัวอย่างการทดลองของวัตสัน (Watson’s Theory of Behaviourism)
ที่มา: Sprouts: Watson’s Theory of Behaviourism,  https://youtu.be/V09FuazW8bc

ทฤษฎีการเรียนรู้แบบวางเงื่อนไขด้วยการกระทำ
    บี เอฟ สกินเนอร์ (B.F. Skinner) เสนอทฤษฎีการวางเงื่อนไขด้วยการกระทำ ซึ่งเกิดจากบุคคลหรือสัตว์ เรียนรู้ผลของการกระทำที่ตอบสนองต่อสิ่งแวดล้อม และจะกระทำหรือไม่กระทำพฤติกรรมซ้ำ ขึ้นอยู่กับผลที่ได้รับจากการกระทำ ถ้าได้ผลที่ปรารถนาก็จะทำซ้ำ แต่ถ้าไม่ได้ผลที่ปรารถนาจะไม่ทำซ้ำอีก  สกินเนอร์ เชื่อว่า การเชื่อมโยงความรู้จะเกิดจากรางวัลกับการตอบสนอง ไม่ใช่สิ่งเร้ากับการตอบสนอง โดยการวางเงื่อนไขแบบการกระทำ เป็นส่วนของการตอบสนองสิ่งเร้าที่สามารถควบคุมได้ ซึ่งเป็นการแสดงพฤติกรรมที่มนุษย์มักจะกระทำพฤติกรรมบางอย่างเมื่อได้รับผลตอบแทนเป็นที่น่าพอใจ และจะหลีกเลี่ยงพฤติกรรมบางอย่างที่ทำแล้วได้รับการลงโทษ ซึ่งสรุปได้ว่า “การกระทำที่ได้รับการเสริมแรง มีแนวโน้มที่จะทำให้เกิดพฤติกรรมนั้นอีก แต่ถ้าได้รับการลงโทษ พฤติกรรมนั้นก็จะลดลงหรือหายไป”

   สกินเนอร์ใช้หนูในการทดลอง โดยสร้างกล่องทดลองที่เรียกว่า “Skinner box” ภายในกล่องมีหลอดไฟฟ้าต่อวงจรไว้กับคานเล็ก ๆ ถ้าหนูไปแตะหรือเหยียบคาน หลอดไฟจะสว่างพร้อมกับมีเสียงดังแกร๊กและมีอาหารหล่นลงมา สกินเนอร์นำหนูที่กำลังหิวมาทดลองโดยใส่ไว้ในกล่อง หนูจะวิ่งไปมาจนกระทั่งบังเอิญไปเหยียบคาน ปรากฏว่าหลอดไฟสว่างพร้อมกับเสียงดังแกร๊กและมีอาหารหล่นลงมา หนูก็จะรีบวิ่งไปกินอาหาร จากนั้น หนูก็จะเวียนเฝ้ามาเหยียบคานและวิ่งไปคอยรับอาหาร ซึ่งในครั้งแรกหนูจะเกิดการเรียนรู้แบบทั่วไป (Generalization) คือ คิดว่าการเหยียบคานทุกครั้งจะได้รับอาหาร แต่ต่อมาหนูจะเรียนรู้ว่าต้องเหยียบคานแล้วได้ยินเสียงดังแกร๊กเท่านั้นจึงจะได้รับอาหาร ซึ่งเรียกว่าเป็นการเรียนรู้แบบสามารถจำแนกได้ (Discrimination) 

สรุปกฎการเรียนรู้แบบการกระทำของสกินเนอร์
1. การเสริมแรง เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นต่อจากการกระทำซึ่งจะมีผลทำให้โอกาสที่จะเกิดพฤติกรรมมีมากขึ้น มี 2 วิธี คือ การเสริมแรงทางบวก และการเสริมแรงทางลบ
- การเสริมแรงทางบวก คือ การทำให้โอกาสที่จะกระทำพฤติกรรมมีมากขึ้นด้วยการให้ในสิ่งที่ปรารถนาหรือต้องการ เช่น สิ่งของ รางวัล (ให้ในสิ่งที่ผู้เรียนต้องการ)
- การเสริมแรงทางลบ คือ การจูงใจด้วยวิธีถอดสิ่งที่ทำให้รู้สึกยุ่งยาก หรือทำได้ลำบากออกไป เพื่อช่วยทำให้โอกาสที่จะกระทำพฤติกรรมนั้นประสบความสำเร็จมีมากขึ้น หรือทำได้ง่ายขึ้น (ให้เพื่อช่วยลดอุปสรรคหรือช่วยให้ผู้เรียนทำอะไรได้ง่ายขึ้น)
2. การลงโทษ เป็นการทำให้พฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ลดลง หรือหายไป มี 2 วิธี คือ การลงโทษทางบวก และการลงโทษทางลบ แต่การลงโทษจะมีผลทำให้เกิดความคับข้องใจ ไม่พอใจ อันจะนำไปสู่ความโกรธแค้นและความก้าวร้าวได้ ดังนั้น จึงต้องเลือกวิธีการลงโทษให้เหมาะสม
- การลงโทษทางบวก คือ การทำให้เกิดผลต่อภายนอกร่างกาย เช่น ความลำบาก ความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นกับสภาพร่างกาย ซึ่งเป็นสิ่งที่บุคคลไม่ต้องการ แต่ให้เพื่อลดหรือทำให้พฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์นั้นหายไป (ให้ในสิ่งที่ผู้เรียนไม่ต้องการ)
- การลงโทษทางลบ คือ การถอดถอนสิ่งที่เป็นรางวัลหรือความต้องการออกไปเมื่อเกิดพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ เพื่อปรับลดหรือทำให้พฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์นั้นหายไป (ไม่ให้ในสิ่งที่ผู้เรียนต้องการ)

ตัวอย่างการทดลองของสกินเนอร์ (Skinner’s Operant Conditioning)
ที่มา: Sprouts: Skinner’s Operant Conditioning: Rewards & Punishments,  https://youtu.be/ne6o-uPJarA

ทฤษฎีการสร้างความสัมพันธ์เชื่อมโยงของธอร์นไดค์
  เอ็ดเวิร์ด ธอร์นไดค์ (Edward Thorndike) ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็น “บิดาแห่งจิตวิทยาการเรียนรู้” การทดลองของธอร์นไดค์ทำให้เกิดความเชื่อว่า “มนุษย์จะกระทำในสิ่งที่สร้างความพึงพอใจ และจะหลีกเลี่ยงสิ่งที่ทำให้เกิดความไม่พอใจ” ธอร์นไดค์เห็นว่าการเรียนรู้จะเกิดขึ้นจากการเชื่อมโยงระหว่างสิ่งเร้ากับการตอบสนอง และการตอบสนองที่ได้รับการเสริมแรง ทำให้เกิดการเชื่อมโยงระหว่างสิ่งเร้ากับการตอบสนองมากขึ้น การทดลองของเขาจึงได้ชื่อว่า “ทฤษฎีการสร้างความสัมพันธ์เชื่อมโยง”

   การทดลองด้วยกล่องกลปริศนา (Puzzie-box) ของธอร์นไดค์ โดยในช่วงแรกของการทดลอง แมวที่ถูกจับใส่ไว้ในกล่องกลปริศนาจะมีปฏิกิริยาตอบสนองหลายอย่าง เช่น ข่วน ตะกุย ตะกายผนังภายในกล่องกลปริศนา จากนั้นเมื่อแมวไปเหยียบคานไม้ที่เป็นสลักสำหรับเปิดประตูโดยบังเอิญ ทำให้ประตูกรงเปิดและแมวสามารถออกไปกินปลาได้  การทดลองซ้ำมากขึ้นจะทำให้พฤติกรรมการเดาสุ่มของแมวลดลง และในที่สุดแมวจะสามารถเหยียบสลักคานไม้ทำให้ประตูกรงเปิดและออกไปกินปลาได้โดยไม่ต้องเสียเวลาลองผิดลองถูกอีกเลย ดังนั้น การที่แมวกระทำพฤติกรรมซ้ำจะมีความสัมพันธ์กับผลของการกระทำที่เรียกว่า กฎแห่งผล (Law of Effect) ซึ่งความรู้จากทฤษฎีของธอร์นไดค์ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายในการจัดการเรียนรู้ ไม่ว่าจะเป็นการเตรียมความพร้อมก่อนเรียนด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น การยกตัวอย่าง การนำเข้าสู่บทเรียน การทบทวนเนื้อหา การใช้สื่อประกอบเนื้อหาสาระ นอกจากนี้ ข้อสรุปเรื่องผลของการกระทำ ยังได้แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการให้ข้อมูลย้อนกลับเพื่อให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ และพัฒนาตนเองต่อไปได้ด้วย

สรุปกฎการเรียนรู้ตามทฤษฎีของธอร์นไดค์
1. กฎแห่งผล (Law of effect) มีหลักการว่า การกระทำใด ๆ ที่ให้ผลเป็นที่พอใจผู้เรียนจะกระทำพฤติกรรมนั้นซ้ำอีก ส่วนการกระทำใดที่ให้ผลไม่เป็นที่พอใจ ผู้เรียนจะเลิกทำพฤติกรรมนั้น ความพึงพอใจที่เกิดจากการแสดงพฤติกรรม คือ ตัวเสริมแรงที่จะทำให้เกิดการเชื่อมโยงระหว่างสิ่งเร้าและการตอบสนองให้มั่นคงมากขึ้น
2. กฎแห่งการฝึกหัด (Law of Exercise) มีหลักการว่าเมื่อผู้เรียนเชื่อมโยงระหว่างสิ่งเร้ากับการตอบสนองที่ถูกต้องแล้ว การฝึกฝนหรือทบทวนจะทำให้การเรียนรู้เกิดขึ้นอย่างคงทนและมีทักษะความชำนาญ เช่น เมื่อเรียนรู้แล้วไม่ได้ถูกนำมาใช้นานวันเข้าก็อาจทำให้ไม่สามารถเล่นได้คล่องเท่าเดิม แต่ถ้าได้มีโอกาสเล่นเป็นประจำก็จะยิ่งเกิดความคล่องแคล่วมากขึ้น
3. กฎแห่งความพร้อม (Law of readiness) มีหลักการว่าการเรียนรู้จะมีประสิทธิภาพมากขึ้นถ้าผู้เรียนได้เรียนในขณะที่พร้อมและมีความต้องการที่จะเรียน ซึ่งความพร้อมประกอบด้วย ความพร้อมทางร่างกายจากวุฒิภาวะ และความพร้อมทางจิตใจ  โดยเมื่อบุคคลพร้อมที่จะกรทำ แล้วได้ลงมือกระทำ ตามความพร้อมที่มี เขาย่อมเกิดความพึงพอใจตามมา

การทดลองของธอร์นไดค์ (Thorndike cats experiment)
ที่มา: Lampshade: Edward Thorndike cats experiment (behavioral psychology),  https://youtu.be/hhNxeYYyCSQ

ทฤษฎีเชื่อมโยงจากการทดลองครั้งเดียวของกัทธรี
  เอ็ดวิน เรย์ กัทธรี (Edwin Ray Guthrie) กล่าวว่า การเรียนรู้นั้นเป็นไปอย่างเรียบง่าย ซึ่งทั้งหมดเป็นผลมาจากความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งเร้าและการตอบสนองที่เฉพาะเจาะจง คือ มีความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งเร้าและการตอบสนองที่เข้าคู่กันได้ในลักษณะที่มีการกระทำหรือสัมผัสอย่างน้อยเพียง 1 ครั้งก็สามารถเกิดการเรียนรู้ได้ เช่น อ่านหนังสือก่อนสอบเพียงครั้งเดียว หรือได้ลงมือกระทำบางสิ่งบางอย่างด้วยตนเองก็สามารถนำไปใช้เป็นแนวทางในการลงมือกระทำในครั้งต่อไปได้ ทฤษฎีการเรียนรู้ของกัทธรีจึงเรียกว่า One-trial learning ซึ่งสรุปได้ดังนี้
1. หลักการตอบสนองแบบเดิม คือ สิ่งเร้ากลุ่มหนึ่งจะเกิดพร้อมกับอาการเคลื่อนไหวเพื่อตอบสนอง และเมื่อมีสิ่งเร้าใหม่เกิดขึ้นอีกในลักษณะเดียวกัน ก็จะมีอาการเคลื่อนไหวเพื่อตอบสนองในรูปแบบเดิม
2. หลักการกระทำครั้งสุดท้าย คือ ถ้าการเรียนรู้หรือการแก้ไขปัญหาเกิดความสมบูรณ์หรือประสบความสำเร็จด้วยการกระทำแบบใดในครั้งสุดท้าย เมื่อเกิดเหตุการณ์ใหม่ให้ต้องแก้ไข บุคคลจะจดจำและนำวิธีการครั้งสุดท้ายนั้นกลับมาใช้ก่อนเป็นอันดับแรก
3. หลักการแทนที่ ถ้ามีสิ่งเร้าที่ไม่ได้วางเงื่อนไขเข้ามาเร้าให้ตอบสนองแม้เพียงครั้งเดียว ต่อมาเมื่อเปลี่ยนเป็นใช้สิ่งเร้าที่วางเงื่อนไขเข้ามาแทนที่ก็จะเกิดการตอบสนองต่อสิ่งเร้านั้นเช่นกัน ตัวอย่างเช่น A เดินทางออกจากบ้านแล้วฝนตกทำให้เปียกฝนเพราะไม่ได้นำร่มติดตัวไปด้วย ในวันต่อ ๆ มาทุกครั้งที่มีข่าวพยากรณ์อากาศแจ้งว่ามีโอกาสจะเกิดฝนฟ้าคะนอง A ก็จะมีการเตรียมนำร่มหรือชุดกันฝนติดตัวออกจากบ้านไปด้วยทุกครั้งเพื่อป้องกันไม่ไห้เปียกฝนอีก   เป็นต้น
4. การกำหนดวัตถุประสงค์ที่ชัดเจนสำหรับการเรียนรู้จะนำไปสู่การเชื่อมโยงการตอบสนองต่อเป้าหมายหรือสิ่งเร้าทางการศึกษาของผู้เรียน

ทฤษฎีการเสริมแรงของฮัลล์
  คลาร์ก ลีโอนาร์ด ฮัลล์ (Clark Leonard Hull) เชื่อว่า การเรียนรู้เกิดการกระตุ้นหรือเสริมแรงให้เกิดแรงขับ หรือการให้รางวัลเพื่อก่อให้เกิดการลดแรงขับหรือความต้องการ ซึ่งจะช่วยทำให้บุคคลเกิดการเรียนรู้ได้เพิ่มมากขึ้น
การเสริมแรง หมายถึง ลักษณะการให้รางวัลเพื่อก่อให้เกิดการลดแรงขับหรือความต้องการพื้นฐาน
แรงขับ หมายถึง สภาพความเครียดอันเป็นผลมาจากความต้องการ และรางวัล
รางวัล หมายถึง ความพอใจที่ได้ตอบสนองความต้องการหรือได้ลดแรงขับ

การเสริมแรงในทัศนะของฮัลล์ มี 2 ประเภท  คือ
1. การเสริมแรงปฐมภูมิ คือ การให้รางวัลหรือการเสริมแรงที่จะลดแรงขับปฐมภูมิ ได้แก่ ความต้องการขั้นพื้นฐาน เช่น ความหิว ความกระหาย
2. การเสริมแรงทุติยภูมิ คือ การเสริมแรงที่มีตัวเสริมแรงทุติยภูมิเกิดขึ้นควบคู่กับการเสริมแรงปฐมภูมิ เช่น คำพูดปลอบใจ การให้กำลังใจ

การเรียนรู้จะเกิดขึ้นได้ถ้าให้แรงขับหรือความต้องการของร่างกายลดน้อยลง ซึ่งสรุปเป็นแนวคิดการเรียนรู้ดังนี้
1. เมื่อต้องการให้ใครเกิดการเรียนรู้ จงทำให้มีความต้องการหรือแรงขับหรือแรงจูงใจเกิดขึ้น
2. การเรียนรู้ไม่จำเป็นต้องทำให้แรงขับหรือความต้องการลดลงทั้งหมด รางวัลที่ให้จึงไม่จำเป็นต้องให้มากเสมอไป
3. การเรียนรู้หรือการพัฒนานิสัยจะเกิดขึ้นได้ต้องเป็นไปในลักษณะของการกระทำที่มีต่อเนื่องไป สะสมทีละน้อย โดยในการเสริมแรงทุกครั้งจะมีผลทำให้การเรียนรู้เพิ่มความเข้มแข็งมากขึ้นตามไปด้วย

ทฤษฎีสนามของเลวิน
  เคิร์ท เลวิน (Kurt lewin) มีแนวคิดในการเรียนรู้ที่เน้น “ส่วนรวมมากกว่าส่วนย่อย” โดยทฤษฎีสนามของเลวินเน้นเรื่อง แรงจูงใจที่มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมเป้าหมายหรือแรงจูงใจที่เป็นแรงผลักดันให้ผู้เรียนทำพฤติกรรมอย่างมีเป้าหมายและมีทิศทาง เลวิน เชื่อว่า ชีวิตของคน ๆ หนึ่งประกอบด้วยเส้นทางหรือสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกันหลายแบบ ดังนั้น แต่ละคนจะต้องมีแรงจูงใจมาช่วยกระตุ้นเพื่อให้เกิดความต้องการที่จะมุ่งไปสู่เป้าหมาย และในการเดินทางไปสู่เป้าหมายของแต่ละบุคคลจะต้องผ่านเส้นทางหรือสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกันออกไป หลายคนอาจจะมีเป้าหมายเดียวกัน แต่สนามหรือเส้นทางที่จะต้องผ่านไปนั้นแตกต่างกัน หรือหลายคนอาจจะเลือกเดินทางไปในเส้นทางเดียวกัน แต่มีวิธีการเดินทางหรือมีการแก้ปัญหาระหว่างทางที่แตกต่างกัน บางสนามหรือบางเส้นทางก็อาจจะผ่านไปได้แบบสะดวกสบาย แต่บางเส้นทางก็อาจจะเต็มไปด้วยปัญหาและอุปสรรคหรือความยากลำบาก ซึ่งทั้งหมดเกี่ยวข้องกับปัจจัยหลายอย่างที่จะเกิดขึ้นในแต่ละช่วงเวลาของการเดินทาง รวมถึงปัจจัยเกื้อหนุน 3 ด้านของแต่ละคนที่จะช่วยให้ประสบความสำเร็จได้แตกต่างกัน ประกอบด้วย พื้นฐานชีวิต สิ่งแวดล้อมและบุคคลที่เกี่ยวข้อง

ทฤษฎีการเรียนรู้ของโทลแมน
  เอ็ดเวิร์ด เชส โทลแมน (Edward Chace Tolman) ได้ทำการทดลองด้วยการสร้างเขาวงกตและให้หนูหาทางออกจากเขาวงกตเพื่อไปกินอาหารที่วางรอไว้ตรงทางออก สิ่งที่พบในการทดลอง คือ หนูจะสำรวจเส้นทางในเขาวงกตและสร้างสัญลักษณ์ขึ้นมาเพื่อช่วยในการจดจำเส้นทางต่าง ๆ เมื่อโทลแมนปิดกั้นเส้นทางใดเส้นทางหนึ่ง หนูก็สามารถเปลี่ยนไปใช้เส้นทางอื่นในการออกไปกินอาหารได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งโทลแมนกล่าวว่าในการเรียนรู้ของมนุษย์และสัตว์มีสิ่งที่เหมือนกันคือสัญชาตญาณและเป้าหมาย ดังนั้น การเรียนรู้จึงเกิดจากสัญชาตญาณและการตอบสนองต่อสิ่งเร้า ซึ่งในการเรียนรู้แต่ละครั้งก็จะมีการสร้างเครื่องหมายหรือสัญลักษณ์เฉพาะขึ้นมาเพื่อช่วยในการจดจำหรือสร้างความเข้าใจในสิ่งต่าง ๆ ให้กับตนเอง และโทลแมนเชื่อว่า มนุษย์มีเอกลักษณ์เฉพาะที่สามารถคิดและกำหนดการกระทำไว้ล่วงหน้าได้ และเรียกสิ่งนี้ว่าเป็นความคิดของการกระทำหรือการคิดของการกระทำเพื่อนำไปสู่เป้าหมาย หรือเป็นการคิดแบบมีจุดมุ่งหมาย โดยมนุษย์สามารถสร้างแบบแผนทางความคิดและความเข้าใจด้วยการจำลองภาพ รูปร่าง สัญลักษณ์หรือเครื่องหมายต่าง ๆ ขึ้นมาใช้ประกอบการคิดและช่วยในการจดจำ และสร้างเป็นแบบแผนในการคิดและการตัดสินใจเพื่อแก้ปัญหาในสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันได้

แนวทางการนำทฤษฎีการเรียนรู้ไปประยุกต์ใช้
1. ทฤษฎีการวางเงื่อนไขแบบคลาสสิก สามารถนำไปประยุกต์ใช้เพื่อกำหนดสิ่งเร้าหรือวางเงื่อนไขในการปรับพฤติกรรมและปรับเปลี่ยนเจตคติผู้เรียน
2. ทฤษฎีการวางเงื่อนไขด้วยการกระทำ ใช้การเสริมแรงเพื่อปรับพฤติกรรมและสนับสนุนการเรียนรู้ให้เข้มข้นขึ้นด้วยรางวัล หรือลดพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ด้วยแนวทางการลงโทษที่เหมาะสม
3. ทฤษฎีการเรียนรู้แบบเชื่อมโยงของธอร์นไดค์ นำเรื่องกฎแห่งการเรียนรู้ กฎแห่งความพร้อม กฎแห่งการฝึกหัด และกฎแห่งผลไปใช้ โดยเน้นความพร้อมของผู้เรียนก่อนการเรียนรู้และเน้นผลลัพธ์ของการกระทำที่ว่า เมื่อการกระทำนั้นได้รับผลอันเป็นที่พึงพอใจของผู้กระทำแล้วย่อมส่งผลให้เกิดพฤติกรรมหรือการกระทำนั้นซ้ำอีก
4. ทฤษฎีเชื่อมโยงจากการทดลองครั้งเดียวของกัทธรี นำไปใช้เพื่อให้เข้าใจผู้เรียนว่าการเรียนรู้สามารถทำให้เกิดขึ้นได้อย่างเรียบง่ายด้วยการใช้สมาธิในการฝึกฝนหรือฝึกหัด และให้ผู้เรียนได้ลงมือกระทำด้วยตนเองเพียงแค่ครั้งเดียวก็สามารถเกิดการเรียนรู้ได้ โดยจะต้องมีการกำหนดวัตถุประสงค์ของการเรียนรู้ในแต่ละครั้งให้ชัดเจนว่าต้องการที่จะให้ผู้เรียนสามารถทำอะไรได้
5. ทฤษฎีการเสริมแรงของฮัลล์ ใช้การเสริมแรงเพื่อสร้างแรงขับด้วยปัจจัยพื้นฐานในชีวิตกระตุ้นให้เกิดพฤติกรรมที่พึงประสงค์ และใช้แรงขับจากปัจจัยภายนอกเพื่อกระตุ้นและปลูกฝังนิสัยที่ดีให้กับผู้เรียน
6. ทฤษฎีสนามของเลวิน ใช้การจูงใจเพื่อให้เกิดแรงผลักดันให้ไปสู่เป้าหมาย เน้นการใช้ทักษะชีวิตในการเผชิญกับปัญหาและอุปสรรค โดยให้รู้หลักการที่นำไปสู่การแก้ปัญหา และใช้สถานการณ์หรือให้ทดลองปฏิบัติจริงเพื่อช่วยฝึกทักษะในการแก้ปัญหา
7. ทฤษฎีการเรียนรู้ของโทลแมน ให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ด้วยความเป็นอิสระเพื่อสำรวจ เก็บข้อมูล คิดวางแผน สร้างแผนที่ความคิดความเข้าใจ และฝึกการคิดแก้ปัญหาในสถานการณ์ที่แตกต่างด้วยตนเอง ซึ่งจะช่วยให้ผู้เรียนสามารถสร้างแบบแผนทางการคิด มีจินตนาการ สามารถตัดสินใจ และการแก้ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันได้อย่างราบรื่น

References:

จิราภา เต็งไตรรัตน์. (2550). การเรียนรู้. ใน สิริอร วิชชาวุธ (บ.ก.), จิตวิทยาทั่วไป (พิมพ์ครั้งที่ 5). กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
ชาญชัย ยมดิษฐ์. (2548). เทคนิคการสอนร่วมสมัย. กรุงเทพฯ: บริษัท หลักพิมพ์ จำกัด.
ณิรดา เวชญาลักษณ์. (2561). หลักการจัดการเรียนรู้. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
ทิศนา แขมมณี. (2560). ศาสตร์การสอน องค์ความรู้เพื่อการจัดกระบวนการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ (พิมพ์ ครั้งที่ 21). กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
เบญจวรรณ กี่สุขพันธ์. (2558). การออกแบบและการจัดการเรียนรู้. กราฟฟิคไซท์ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต.
สุมาลี ชัยเจริญ. (2559). การออกแบบการสอน หลักการ ทฤษฎี สู่การปฏิบัติ (พิมพ์ครั้งที่ 2). ขอนแก่น: บริษัท เพ็ญพริ้นติ้ง จำกัด.
สุรางค์ โค้วตระกูล. (2559). จิตวิทยาการศึกษา (พิมพ์ครั้งที่ 12). กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.