เทคนิคการจัดการเรียนรู้
"สวัสดีครับ เรื่องเทคนิคการจัดการเรียนรู้ คุณเลือกเรียนรู้ด้วยตนเอง ดังนั้น สามารถเลื่อนเมาส์อ่านและทำความเข้าใจเนื้อหาสาระได้ตามสะดวกได้เลยครับ หรือหากต้องการให้ Luca ช่วยอธิบายในหัวข้อใดก็คลิกฟังเสียง Luca ที่ด้านล่างของแต่ละหัวข้อนั้นได้เลยครับ และเมื่อจบเนื้อหาแล้วอย่าลืมวัดค่าพลังการเรียนรู้เพื่อเก็บคะแนนด้วยนะครับ (โดยเมื่อกดปุ่ม Back กลับไปยังหน้าหลักของบทเรียนจะมีรายการให้เลือกทำแบบทดสอบหลังเรียนครับ)"
เทคนิคการจัดการเรียนรู้ เป็นการใช้ศิลปะและรูปแบบวิธีในการจัดกิจกรรมและกระบวนการจัดการเรียนรู้ของครูผู้สอน ซึ่งอาศัยหลักการและเหตุผลที่จะต้องใช้ความรู้อย่างสร้างสรรค์เพื่อสนับสนุนให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ ด้วยเหตุนี้ ครูผู้สอนจึงต้องมีหลักการที่ดีและฝึกฝนให้สามารถจัดการเรียนรู้ได้บรรลุตามจุดมุ่งหมายของการจัดการเรียนการสอน ดังนั้น เทคนิคการจัดการเรียนรู้จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับผู้สอนทุกคน โดยผู้สอนจะต้องมีเทคนิคในการถ่ายทอดความรู้และจัดกิจกรรมได้เป็นอย่างดีจึงจะก่อให้เกิดประสิทธิภาพในการสอน เพราะฉะนั้น ผู้สอนจึงควรตระหนักและฝึกฝน 10 เทคนิควิธีการพื้นฐานที่เกี่ยวข้องในการจัดการเรียนรู้ ประกอบด้วย เทคนิคการนำเข้าสู่บทเรียน เทคนิคการอธิบาย เทคนิคการใช้คำถาม เทคนิคการเร้าความสนใจ เทคนิคการเล่าเรื่อง เทคนิคการยกตัวอย่าง เทคนิคการสรุปบทเรียน เทคนิคการเสริมกำลังใจ เทคนิคการใช้วาจา กิริยาท่าทาง และเทคนิคการใช้กระดาน
1. เทคนิคการนำเข้าสู่บทเรียน
การนำเข้าสู่บทเรียนเป็นกิจกรรมขั้นแรก เมื่อเริ่มกระบวนการเรียนการสอน เป็นการกระตุ้นจูงใจ และดึงดูดให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมก่อนการเรียน หรือหันมาสนใจผู้สอน หรือสนใจในสิ่งที่ผู้สอนกำลังจะสอน การนำเข้าสู่บทเรียนทำได้หลากหลายวิธี ตัวอย่างเช่น
1. การซักถาม เพื่อทบทวนสิ่งที่ได้เรียนมาแล้ว หรือซักถามเกี่ยวกับเรื่องราวหรือประสบการณ์เดิมของผู้เรียน แล้วเชื่อมโยงไปสู่เรื่องที่จะสอน
2. การเล่านิทาน เล่าเรื่อง หรือเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นเชื่อมโยงไปสู่บทเรียนที่จะสอน
3. การตั้งปัญหา หรือทายปัญหาเพื่อเชื่อมโยงไปสู่บทเรียนนั้น ๆ
4. การร้องเพลง โดยนำเพลงที่เกี่ยวข้องกับบทเรียนหรือเนื้อหาสาระของบทเรียนมาร่วมร้องหรือเปิดให้ผู้เรียนฟัง เพื่อเชื่อมโยงเข้าสู่บทเรียน
5. การแสดงบทบาทสมมติ โดยให้ผู้เรียนแสดงบทบาทที่เกี่ยวกับหัวข้อที่ผู้สอนกำหนดแล้วเชื่อมโยงเข้าสู่บทเรียน
6. การใช้สื่อการเรียนการสอนต่าง ๆ เช่น รูปภาพ หุ่นจำลอง หรือของจริง
2. เทคนิคการอธิบาย
การอธิบายเป็นเทคนิคที่สำคัญอย่างหนึ่งของการเรียนการสอน การอธิบายที่แจ่มแจ้งชัดเจน จะทำให้ผู้เรียนเข้าใจเนื้อหาสาระได้อย่างดี เทคนิคการอธิบายที่ดีและมีประสิทธิภาพ ประกอบด้วย
1. การจัดลำดับเรื่องที่อธิบาย โดยเขียนหัวข้อที่จะอธิบายเรียงลำดับไว้ตั้งแต่ต้นจนจบ และหัวข้อใดที่จะต้องย้ำหรือเน้น หรือมีการสรุป ควรเตรียมไว้เป็นพิเศษ
2. การอธิบายจะต้องคำนึงถึงน้ำเสียงในการพูด และระดับเสียงให้ได้ยินพอเหมาะกับผู้เรียน ระหว่างอธิบายควรมีการเว้นระยะ ลีลาการพูด และความเร็วในการพูดปกติ น้ำเสียงชัดเจน ผู้เรียนฟังแล้วเข้าใจได้ง่าย
3. ศึกษาระดับของผู้ฟัง เพื่อจะได้ใช้คำอธิบายและใช้ภาษาให้เหมาะสมกับระดับผู้ฟัง เช่น ระดับความรู้ และประสิทธิภาพในการรับรู้
4. บุคลิกภาพและความมั่นใจของผู้สอน เน้นความน่าเชื่อถือ ความรู้ดี มีความเชื่อมั่นต่อสิ่งที่อธิบาย และเป็นกันเองกับผู้เรียน
3. เทคนิคการใช้คำถาม
การใช้คำถาม ถือเป็นความจำเป็นต่อการเรียนการสอนมาก เพราะเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ ดังนั้น การที่ผู้สอนใช้คำถามอย่างมีประสิทธิภาพจะมีผลต่อการเรียนรู้ของผู้เรียน ฝึกให้ผู้เรียนรู้จักคิดเป็น ทำเป็น และแก้ปัญหาเป็น ผู้สอนจึงควรฝึกทักษะการใช้คำถามโดยใช้ลักษณะคำถามดังต่อไปนี้
1. คำถามที่ใช้ความคิดพื้นฐาน เป็นลักษณะคำถามง่าย ๆ เช่น ถามความจำ และการสังเกต
2. คำถามเพื่อการคิดค้น เป็นคำถามลักษณะใช้ความคิดซับซ้อนมากขึ้น เช่น ความเข้าใจ การนำไปใช้ การเปรียบเทียบ ถามหาเหตุและผล หรือให้สรุปหลักการ
3. คำถามที่ขยายความคิด เป็นคำถามที่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนใช้ความคิดอิสระและกว้างขวาง ซึ่งผู้เรียนมีโอกาสแสดงความคิดอย่างสร้างสรรค์ เช่น ให้คาดคะเน วิจารณ์ ประเมินค่า หรือจินตนาการ
แนวทางการตั้งคำถามและการใช้คำถามที่ดี
1. คำถามมีความชัดเจนไม่วกวน
2. ควรเว้นระยะให้คิด ไม่เร่งรัดคำตอบจนเกินไป
3. เปิดโอกาสให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการตอบคำถามอย่างทั่วถึง
4. ให้กำลังใจด้วยการกล่าวยกย่อง ชมเชย หรือให้การเสริมแรงด้วยรูปแบบอื่นๆ
5. ใช้ท่าทางประกอบ โดยมีการเว้นจังหวะและการเน้นเสียงในการถามที่เหมาะสม และกระตุ้นหรือเชิญชวนให้อยากตอบคำถาม
4. เทคนิคการเร้าความสนใจ
การเร้าความสนใจ เป็นการสร้างบรรยากาศให้ผู้เรียนตื่นตัวและเกิดความพร้อมในการเรียน โดยขั้นนำเข้าสู่บทเรียนและขั้นสอนต้องมีการเร้าความสนใจเป็นระยะ เพื่อทำให้ผู้เรียนเกิดอารมณ์ร่วมในการเรียนรู้ และเกิดความสนใจในการติดตามกิจกรรมการเรียนการสอนโดยตลอด การเร้าความสนใจสามารถทำได้หลายวิธี ตัวอย่างเช่น
1. การใช้สื่อการเรียนการสอนเป็นตัวกระตุ้นให้ผู้เรียนสนใจ
2. การแสดงท่าทางประกอบการสอน
3. การเล่าเรื่องสั้น ๆ ประกอบเรื่องราวในขณะที่สอนหรืออธิบาย
4. การตั้งโจทย์ปัญหาหรือสถานการณ์เพื่อเร่งเร้าความสนใจ
5. เทคนิคการเล่าเรื่อง
การเล่าเรื่องเป็นวิธีการใช้ทักษะจากการนำเรื่องราวต่าง ๆ เช่น นิทาน ประวัติศาสตร์หรือสถานการณ์มาเล่าให้ผู้เรียนฟัง เพื่อให้ผู้เรียนได้ทราบเรื่องราวหรือเพื่อให้เกิดความซาบซึ้งและเพลิดเพลิน และยังสามารถใช้เพื่อให้ผู้เรียนคิดวิเคราะห์และประเมินค่าจากเรื่องเล่านั้น โดยเทคนิคที่ใช้สำหรับประกอบการเล่าเรื่อง ได้แก่
1. การใช้ภาษาและน้ำเสียงเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการเล่าเรื่องเพราะจะช่วยให้ผู้ฟังเข้าใจ เกิดความสนใจหรืออยากฟังเรื่องราวไปโดยตลอดตั้งแต่ต้นจนจบหรือไม่
2. การใช้ท่าทางประกอบการเล่าเป็นส่วนประกอบที่ช่วยเสริมให้เกิดความน่าสนใจในตัวผู้เล่า
3. การแสดงออกทางสีหน้าและอารมณ์จะช่วยสร้างบรรยากาศที่ดี มีความสนุกสนาน และผ่อนคลายความดึงเครียดของผู้ฟัง
4. การใช้สื่อหรืออุปกรณ์ประกอบการเล่าเรื่องจะช่วยกระตุ้นความน่าสนใจ ช่วยให้ผู้เรียนเข้าใจในเนื้อหาสาระและทำให้รู้สึกไม่เบื่อหน่ายในบทเรียน
6. เทคนิคการยกตัวอย่าง
การยกตัวอย่าง หมายถึง การที่ครูใช้ตัวอย่างซึ่งอาจจะมาจากครูหรือผู้เรียน เพื่อสื่อให้เกิดความเข้าใจหรือได้แนวคิดในสิ่งที่เป็นนามธรรมของเนื้อหาสาระ ตัวอย่างอาจเป็นแบบนิรนัยและอุปนัย นิทาน แผนภูมิ รูปภาพและอื่น ๆ ที่จะช่วยให้สิ่งที่เป็นนามธรรมนั้นกระจ่างขึ้น ตัวอย่างที่ดีควรเป็นสิ่งที่ผู้เรียนคุ้นเคย โดยครูควรจะเชื่อมโยงจากสิ่งที่รู้ไปสู่สิ่งที่ผู้เรียนไม่รู้ เพื่อจะช่วยให้ผู้เรียนเกิดความเข้าใจได้ง่ายและชัดเจนมากยิ่งขึ้น
ประเภทของการยกตัวอย่าง
1. ยกตัวอย่างแบบอุปนัย ผู้สอนจะยกตัวอย่างก่อนหลาย ๆ ตัวอย่างให้ผู้เรียนศึกษาตัวอย่างแล้ววิเคราะห์สรุปเป็นหลักเกณฑ์หรือแนวคิด
2. ยกตัวอย่างแบบนิรนัย ซึ่งประกอบด้วย 3 ขั้นตอน คือ ขั้นแรก ผู้สอนระบุหัวข้อ กฎหรือหลักเกณฑ์ให้ผู้เรียนได้รู้จักและเข้าใจก่อน ขั้นที่ 2 ผู้สอนยกตัวอย่างถึงสิ่งต่าง ๆ ที่จะช่วยขยายความหัวข้อหรือหลักเกณฑ์ที่ให้ไว้ในขั้นตอนแรก และขั้นที่ 3 ครูเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของตัวอย่างในขั้นตอนที่ 2 เข้ากับประเด็นหัวข้อหรือหลักเกณฑ์ที่ให้ไว้ในตอนต้น
3. ยกตัวอย่างโดยใช้นิทาน เนื้อหาสาระที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับคุณธรรม จริยธรรมหรือต้องการเน้นพฤติกรรมที่พึงประสงค์ การสอนโดยตรงอาจจะน่าเบื่อและไม่น่าสนใจเท่ากับการใช้นิทาน หรือเรื่องเล่าประกอบการสอน หรือใช้แทรกในระหว่างการสอนเพื่อให้ผู้เรียนสนใจติดตาม และซึมซับกับคติธรรมหรือแง่คิดที่แฝงไว้ในเรื่องราวหรือบทสรุปของนิทาน
7. เทคนิคการสรุปบทเรียน
การสรุปบทเรียน เป็นการทำให้ผู้เรียนสามารถรวบรวมความคิดความเข้าใจของตนให้ตรงกันและถูกต้อง เป็นการรวบรวมสาระ และใจความสำคัญที่ต้องการให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ โดยกระทำหลังการสอนทุกครั้ง ซึ่งจะเป็นการสรุปเนื้อหาสาระหรือใจความสำคัญที่ผู้เรียนได้เรียนรู้ไปแล้ว และโดยทั่วไปการสรุปบทเรียนนั้นจะกระทำหลังจากจัดกิจกรรมการเรียนรู้เสร็จแล้ว
การสรุปบทเรียนสามารถทำได้ 2 ลักษณะ ดังนี้
1. การสรุปเรื่องหรือใจความสำคัญเข้าด้วยกัน เพื่อให้ผู้เรียนได้รับความรู้อย่างถูกต้องและสมบูรณ์ขึ้น และเพื่อให้ผู้เรียนสามารถเชื่อมโยงความรู้เก่ากับความรู้ใหม่เข้าด้วยกันได้
2. การสรุปความคิดเห็นของผู้เรียนเกี่ยวกับความสำเร็จในการเรียน ตลอดจนปัญหาหรืออุปสรรค เพื่อเป็นแนวทางให้ผู้เรียนได้ศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติม
การสรุปบทเรียนผู้สอนสามารถเลือกได้หลายวิธี ดังนี้
1. สรุปจากการตั้งคำถาม โดยซักถามในสิ่งต่าง ๆ ที่ผู้เรียนได้เรียนไปแล้ว เพื่อตรวจสอบว่าผู้เรียนสรุปสาระสำคัญได้หรือไม่
2. สรุปโดยใช้สื่อการเรียนการสอน เช่น การใช้แผนภูมิ หรือบัตรภาพ บัตรคำ
3. สรุปจากประสบการณ์ของผู้เรียน เช่น จากการสังเกต การทดลอง หรือการสาธิต โดยพยายามชี้ให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของความรู้ที่ได้เรียนจบไปแล้ว และสิ่งที่จะต้องเรียนต่อไปในอนาคต
4. สรุปจากการสร้างสถานการณ์ โดยผู้สอนสมมติสถานการณ์ใดสถานการณ์หนึ่งขึ้นมาแล้วลองให้ผู้เรียนนำความรู้ที่เรียนมาแก้ปัญหา
ทั้งนี้ การสรุปบทเรียนอาจใช้วิธีแตกต่างกันไปตามที่ผู้สอนเห็นว่าเหมาะสมกับบรรยากาศในการสอนเพื่อเป็นการทบทวนความคิดความเข้าใจของผู้เรียนให้ตรงกันและถูกต้อง
8. เทคนิคการเสริมกำลังใจ
เทคนิคการเสริมกำลังใจจะช่วยให้ผู้เรียนมีความพึงพอใจและอยากเรียนรู้ มีความกระตือรือร้นที่จะเรียน และอยากทำงานให้ดีที่สุด วิธีการเสริมกำลังใจทำได้โดย
1. การเสริมกำลังใจด้วยวาจา ได้แก่ การใช้วาจาในการยกย่องชมเชย เช่น การพูดกล่าวชมเชยว่าดี ดีมาก เก่งมาก
2. การเสริมกำลังใจด้วยกิริยาท่าทาง ได้แก่ การใช้ท่าทางแสดงความพอใจ เช่น การยิ้ม การพยักหน้า การใช้สายตาแสดงความสนใจ การปรบมือ การยกนิ้วให้
3. การเสริมกำลังใจด้วยการให้ผู้เรียนเห็นความก้าวหน้าของตนเอง เช่น เมื่อให้ปฏิบัติงาน ควรได้รับการตรวจและทราบผลการปฏิบัติงานในทันที เพื่อเป็นกำลังใจหรือปรับปรุงพัฒนาต่อไป
4. การเสริมกำลังใจโดยการให้รางวัลด้วยสัญลักษณ์ต่าง ๆ เช่น การเขียนเครื่องหมายถูกลงในสมุดแบบฝึกหัด การให้สิ่งของรางวัลเมื่อผู้เรียนทำได้ถูกต้อง หรือทำคะแนนได้สูงกว่าเกณฑ์ปกติ
การเสริมกำลังใจเป็นสิ่งที่จำเป็นและมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการช่วยให้ผู้เรียนมีความอยากเรียนมากยิ่งขึ้น ซึ่งผู้สอนควรจะนำเทคนิคการเสริมกำลังใจไปใช้โดยคำนึงถึงหลักการ ดังนี้
1. ควรมีการเสริมกำลังใจทันทีเมื่อผู้เรียนแสดงพฤติกรรมที่ดี หรือเป็นพฤติกรรมที่สอดคล้องกับเป้าหมายของการเรียนการสอน
2. เลือกวิธีการเสริมกำลังใจให้เหมาะสมกับผู้เรียนแต่ละคน
3. เลือกใช้วิธีการเสริมกำลังใจที่หลากหลาย ทั่วถึง จริงจังและสม่ำเสมอ
4. ไม่ควรให้การเสริมกำลังใจจนเกินความเป็นจริง หรือพร่ำเพรื่อเกินไป
9. เทคนิคการใช้วาจา กิริยาท่าทาง
การใช้วาจา กิริยาท่าทางประกอบการสอนที่เหมาะสมเป็นสิ่งที่ช่วยให้ผู้เรียนมีชีวิตชีวา สามารถช่วยกระตุ้นความสนใจจากผู้เรียนได้ดี
- การใช้วาจา กิริยาท่าทาง ได้แก่ การเคลื่อนไหว การเปลี่ยนอิริยาบถของผู้สอน การเข้าไปยืนใกล้ผู้เรียน ตลอดจน การเปลี่ยนทิศทางการยืนขณะสอนหรืออธิบาย และการเดินไปสังเกตเมื่อผู้เรียนทำงานหรือทำกิจกรรม
- บุคลิกภาพที่ดีของผู้สอนทั้งภายนอกและภายในก็เป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้ผู้เรียนเกิดความสนใจ สร้างความน่าเชื่อถือ และส่งผลต่อความตั้งใจในการเรียนรู้ของผู้เรียน
10. เทคนิคการใช้กระดาน
กระดานในปัจจุบันอาจใช้กระดานอย่างอื่นที่นอกเหนือจากการดานดำ เช่น กระดานไวท์บอร์ด สมาร์ทบอร์ดหรือกระดานอิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ ดังนั้น ผู้สอนจึงควรฝึกเทคนิคการใช้กระดานเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพแก่ผู้เรียนให้ได้มากที่สุด โดยฝึกการใช้กระดานให้มีระเบียบเพราะการใช้กระดานสามารถใช้ได้ตลอดกิจกรรมทั้งการนำเข้าสู่บทเรียน การอธิบาย ใช้ติดรูปภาพ สื่อการเรียนรู้ จัดกิจกรรมเพื่อให้ผู้เรียนมีส่วนร่วม ตลอดจนสรุปหรือทบทวนบทเรียน
ข้อควรคำนึงในการใช้กระดาน
1. ลบกระดานให้สะอาดก่อนใช้งาน
2. เขียนจากซ้ายมือไปขวามือ เพื่อให้ถูกต้องตามหลักในการเขียนโครงสร้างประโยคของภาษา
3. เขียนให้ตรงบรรทัด เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยและสวยงาม
4. แบ่งกระดานให้เป็นสัดส่วน เพื่อให้ผู้เรียนติดตามเรื่องราวได้อย่างต่อเนื่อง และไม่สับสน
5. เขียนเฉพาะสรุปสาระสำคัญ โดยเน้นประเด็นหลักที่จะช่วยทำให้ผู้เรียนเกิดความเข้าใจได้ง่าย
6. เขียนให้ขนาดตัวอักษรเหมาะสม อ่านง่าย และมองเห็นได้ชัดเจนจากทุกตำแหน่งที่นั่งของผู้เรียน
7. เขียนด้วยตัวบรรจง เพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับผู้เรียน และช่วยให้ผู้เรียนสามารถอ่านได้เข้าใจง่าย
8. ใช้แปรงลบกระดาน และลบไปในทางเดียวกัน เพื่อป้องกันผงฝุ่นที่เกิดจากการลบกระดานฟุ้งกระจาย
9. ใช้ไม้หรืออุปกรณ์ช่วยในการชี้กระดาน แทนการใช้นิ้วชี้โดยตรง เพื่อไม่ให้มือหรือแขนไปบังข้อความหรือสาระสำคัญที่อยู่บนกระดาน
10. ตรวจสอบความถูกต้องของข้อความหรือสิ่งที่เขียนบนกระดานทุกครั้งหลังจากที่เขียนเสร็จแล้ว เพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาด
นอกจาก เทคนิคการสอนที่ดีทั้ง 10 เทคนิควิธีการดังที่ยกตัวอย่างไปในข้างต้นแล้ว ครูผู้สอนควรมีทักษะกระบวนการที่ดีดังนี้
1. จัดการเรียนรู้ด้วยความคล่องแคล่ว กระฉับกระเฉง มีความคล่องแคล่วในการแสดงออกพฤติกรรมต่าง ๆ เป็นไปอย่างสอดคล้องเหมาะสม ราบรื่น ไม่ติดขัด เช่น การพูด การอธิบาย การถามคำถาม การเขียนกระดาน การใช้สื่อการเรียนรู้ และทุกพฤติกรรมของครูสามารถแสดงออกด้วยความมั่นใจ ไม่ขัดเขินหรือเกิดความลังเล ไม่แน่ใจจะช่วยให้การจัดการเรียนรู้นั้นสำเร็จลุล่วงด้วยความเรียบร้อยและราบรื่น
2. จัดการเรียนรู้ด้วยความถูกต้องแม่นยำ โดยมีความถูกต้องแม่นยำทั้งด้านเนื้อหาสาระและวิธีการ และเนื้อหาสาระหรือประสบการณ์ต่าง ๆ ที่จัดให้แก่ผู้เรียนมีความถูกต้องตรงตามหลักการและทฤษฎี ผู้สอนที่สามารถให้เนื้อหาสาระได้อย่างถูกต้องและครอบคลุมตามขอบข่ายของวิชา และมีความแม่นยำในเนื้อหาสาระ โดยไม่ต้องดูหรืออ่านจากเอกสารประกอบตลอดเวลาจะช่วยให้การสอนนั้น มีความเป็นธรรมชาติและดูเป็นมืออาชีพ
3. จัดการเรียนรู้แล้วบรรลุผลสำเร็จอย่างมีประสิทธิภาพในเวลาที่เหมาะสม ผู้สอนที่มีทักษะการจัดการเรียนรู้จะทำให้ผู้เรียนบรรลุจุดประสงค์ของการเรียนรู้ได้เป็นอย่างดีและเกิดความรู้ความเข้าใจได้อย่างแจ่มแจ้ง เกิดเจตคติที่ดีต่อวิชาที่เรียนและต่อผู้สอน เกิดทักษะในการคิดค้นคว้าและลงมือปฏิบัติกิจกรรมตามที่ผู้สอนมอบหมาย ตลอดจนช่วยให้ผู้เรียนมีความสุขในการเรียนรู้ด้วย
นอกจากนี้ คุณลักษณะที่สำคัญของพฤติกรรมผู้มีทักษะการสอนที่ดีจะต้องมี 4 กระ ได้แก่ กระตือรือร้น กระฉับกระเฉง กระจ่าง และกระบวนการ
1. กระตือรือร้น คือ พฤติกรรมความตั้งใจในการจัดการเรียนรู้และมีเทคนิคในการกระตุ้นผู้เรียนให้เกิดความสนใจในการเรียนรู้ได้ตลอด ตั้งแต่ต้นจนจบชั่วโมงที่สอน
2. กระฉับกระเฉง คือ พฤติกรรมการแสดงออกที่คล่องแคล่ว ไม่เฉื่อยชา แสดงออกด้วยความมั่นใจทั้งอากัปกิริยา คำพูดและวิธีการจัดการเรียนรู้
3. กระจ่าง คือ ความสามารถในการจัดประสบการณ์ให้ผู้เรียนได้รับความรู้อย่างกระจ่างแจ้ง สามารถถ่ายทอดหรืออธิบายเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่ายได้ ซึ่งจะช่วยให้ผู้เรียนเกิดความเข้าใจได้ชัดเจนถูกต้องอย่างสมบูรณ์
4. กระบวนการ คือ มีความสามารถในการดำเนินกิจกรรมการจัดการเรียนรู้ได้อย่างเป็นลำดับขั้นตอนที่ต่อเนื่องกัน ไม่สับสน ไม่ขัดแย้ง และสามารถดำเนินกิจกรรมจนเสร็จสิ้นกระบวนการ บรรลุจุดประสงค์การเรียนรู้ตามแผนที่วางไว้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ตัวอย่าง การสอนด้วยการใช้เทคนิคการจัดการเรียนรู้
ที่มา: DLIT PLC พัฒนาวิชาชีพครู, https://youtu.be/rxE_-fJYdEE
References:
ทิศนา แขมมณี. (2561). ศาสตร์การสอน องค์ความรู้เพื่อการจัดกระบวนการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ (พิมพ์ครั้งที่ 22). กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
เบญจวรรณ กี่สุขพันธ์ พันพัชร ปิ่นจินดา และอลงกรณ์ เกิดเนตร. (2561). การจัดการเรียนรู้และการจัดการชั้นเรียน (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพฯ: ศูนย์บริการสื่อและสิ่งพิมพ์กราฟฟิคไซท์ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต.
พัทยา การะเจดีย์. (2545). เอกสารประกอบการสอนวิชา ศึกษา 363 ประสบการณ์วิชาชีพครู 3 (Professional Experiences for Teacher III). กรุงเทพฯ: คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทร์วิโรฒ ประสานมิตร.
พิณสุดา สิริธรังศรี. (2560). ความรู้ ความคิด ทักษะและคุณธรรมของครู. ในความเป็นครูและการพัฒนาครูมืออาชีพ (บรรณาธิการ โดย ไพฑูรย์ สินลารัตน์ และนักรบ หมื่นลี้). กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
พิมพันธ์ เดชะคุปต์ และพเยาว์ ยินดีสุข. (2560). ทักษะ 7C ของครู 4.0 (พิมพ์ครั้งที่ 3). กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
วัชรา เล่าเรียนดี ปรณัฐ กิจรุ่งเรือง และอรพิณ ศิริสัมพันธ์. (2560). กลยุทธ์การจัดการเรียนรู้เชิงรุก เพื่อพัฒนาการคิดและยกระดับคุณภาพการศึกษา สำหรับศตวรรษที่ 21. นครปฐม: บริษัท เพชรเกษมพริ้นติ้ง กรุ๊ป จำกัด.
สุพิน บุญชูวงค์. (2548). หลักการสอน. กรุงเทพฯ: คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต.
อาภรณ์ ใจเที่ยง. (2553). หลักการสอน ฉบับปรับปรุง (พิมพ์ครั้งที่ 5). กรุงเทพฯ: โอ.เอส. พริ้นติ้ง เฮาส์.